เนื้อหาวันที่ : 2012-03-20 11:30:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1779 views

พาณิชย์ลุยแดนอาทิตย์อุทัย อ้อนเปิดตลาดสินค้า ข้าว-ไก่ เพิ่ม

พาณิชย์พาเหรดลุยแดนอาทิตย์อุทัย อ้อนเปิดตลาดสินค้า ข้าว-ไก่ เพิ่มตามหลักสากล เอกชนญี่ปุ่นออกโรงเชียร์ซื้อสินค้าไก่จากไทย

          พาณิชย์พาเหรดลุยแดนอาทิตย์อุทัย อ้อนเปิดตลาดสินค้า ข้าว-ไก่ เพิ่มตามหลักสากล เอกชนญี่ปุ่นออกโรงเชียร์ซื้อสินค้าไก่จากไทย

          พาณิชย์พาเหรดลุยแดนอาทิตย์อุทัย อ้อนเปิดตลาดสินค้า “ข้าว-ไก่”เพิ่มตามหลักสากล เชื่อเร็วๆ นี้จะได้รับข่าวดี ชี้ข้าวไทยต้องส่งเสริมให้ภัตตาคารเอเชีย โกยผู้ซื้อได้อีกกว่า 5 พันร้าน ขณะที่สินค้าไก่ เอกชนญี่ปุ่นหนุนซื้อจากไทย เหตุพึ่งแหล่งผลิตเดียวเสี่ยง ทำญี่ปุ่นมีอำนาจต่อรองน้อย

          นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึงผลการเดินทางร่วมคณะไปกับนายกรัฐมนตรีและ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 6 – 9 มีนาคม 2555 ว่า ญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ของไทยและภูมิภาคเอเชีย โดยประเด็นการค้า-ลงทุนถูกผลักดันให้เกิดความคืบหน้าด้านเศรษฐกิจยิ่งขึ้นกว่าเดิม อาทิ ไก่สดแช่เข็ง ข้าว สิ่งทอ ครัวไทยสู่โลก ธุรกิจสปา เป็นต้น ซึ่งภายหลังการเข้าพบกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม(METI)และผู้นำเข้ารายใหญ่ คาดว่าจะได้รับข่าวดีในเร็วๆ นี้

          สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในแต่ละเรื่อง อาทิ สินค้าข้าว ปัจจุบันญี่ปุ่นมีมาตรการปกป้องสินค้าข้าวในประเทศ โดยจัดเก็บภาษีนำเข้าข้าวในอัตรา 341 เยน (114 บาท) ต่อกิโลกรัม ตามข้อผูกพันกับองค์กรการค้าโลก (WTO) ที่จะต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศประมาณปีละ 682,000 ตัน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นต้องเปิดประมูลการนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ เป็นระยะ ใน 2 แบบ ได้แก่ เป็นข้าวที่จำหน่ายเพื่อการบริโภค SBS (Simultaneous Buying and Selling Tender System ) หรือเรียกว่า Table Rice ซึ่งจะนำเข้าประมาณ 100,000 ตัน/ปี

และแบบ เป็นข้าวที่ใช้ในการแปรรูปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใช้ในการสำรอง และบริจาค หรือOMA(Ordinary Minimum Access)ซึ่งจะนำเข้าประมาณ 582,000 ตัน/ปี ในปี 2554 ญี่ปุ่นนำเข้าข้าวจากหลายประเทศ จากสหรัฐฯ มีสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 55 จากไทย สัดส่วนร้อยละ 24 (ประมาณ 22,000 ตันในปี 2011 ) จากออสเตรเลีย สัดส่วนรัอยละ 12 และจากจีน สัดส่วนร้อยละ 7

          “ไทยต้องการผลักดันให้ผู้นำเข้าพิจารณานำเข้าข้าวในระบบ SBS เพิ่มเติม เนื่องจากนำเข้าจากไทย ยังไม่มาก เพียงร้อยละ 20 ของปริมาณการประมูล ซึ่งยังจะสามารถเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวไทยในตลาดญี่ปุ่นได้อีกมาก โดยจะเสนอให้ผู้นำเข้าญี่ปุ่นพิจารณา

นอกจากจะขายข้าวไทยให้ภัตตาคารไทยในญี่ปุ่นเป็นหลักแล้ว ประมาณ 500-600 ร้าน ยังควรส่งเสริมให้ภัตตาคารอาหารจากเอเชีย เช่น จีน อินเดีย เกาหลี และบางส่วนอาหารอิตาลี ใช้ข้าวไทย เพื่อขยายฐานผู้บริโภคข้าวไทยในญี่ปุ่นให้ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันจำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 ร้าน พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจ ให้ผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่รับรู้ถึงศักยภาพของไทย ในการเป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก และส่งออกสินค้าข้าวคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศในยุโรป

          สำหรับตัวแทนสมาคมผู้นำเข้าไก่ในญี่ปุ่น ที่ได้เข้าหารือกับรมว.พาณิชย์ ในประเด็นผลักดันให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นให้การสนับสนุนรัฐบาลไทย ในการเสนอให้รัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณายกเลิกมาตรการห้ามนำเข้า ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง จากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เนื่องจากหลังจากไม่พบการระบาดของไข้หวัดนกในไทย ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นยังห้ามนำเข้าไก่สดจากไทย แต่นำเข้าได้เฉพาะไก่แปรรูปและไก่ปรุงสุกด้วยความร้อนเท่านั้น

ญี่ปุ่นควรจะปฏิบัติตามหลักสากลของ OIE เพราะประเทศไทยสามารถพิสูจน์ได้ว่า ปลอดจากการระบาดของไวรัสเป็นระยะเวลาติดต่อกันนานกว่า 90 วัน ทั้งนี้ญี่ปุ่นบริโภคไก่ปีละประมาณ 2.2-2.5 ล้านตัน โดยสามารถผลิตได้เองปีละ 1.4 ล้านตัน หรือประมาณ 65-70% ที่เหลือมาจากการนำเข้าปีละ 700,000-800,000 ตัน

          “ภาคเอกชนญี่ปุ่นเอง ก็ต้องการให้รัฐบาลไทยเร่งรัดให้ญี่ปุ่นยกเลิกการห้ามนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย เพราะไม่ต้องการพึ่งพิงแหล่งผลิตเพียงแห่งเดียว ซึ่งปัจจุบันต้องพึ่งพาแหล่งนำเข้าจากบราซิล มากกว่าร้อยละ 90 ทำให้ญี่ปุ่นมีอำนาจต่อรองน้อย ซึ่งหากสามารถผลักดันเรื่องนี้ได้สำเร็จ คาดว่าประเทศไทย จะสามารถขยายการส่งออกสินค้าไก่สด แช่เย็นแช่แข็งไปตลาดญี่ปุ่น มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ปัจจุบัน บราซิลครองตลาดสินค้าไก่สด แช่เย็นแช่แข็งสัดส่วนร้อยละ 90 มูลค่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ / มูลค่าการนำเข้าสินค้าไก่แปรรูปไทยไปญี่ปุ่นปี 2011 คิดเป็น 1,047 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ปริมาณ 2 แสนตัน/ปี )”นางนันทวัลย์ กล่าว

          นอกจากนี้ยังเข้าเยี่ยมชมงาน “FOODEX Japan 2555”เป็นงานแสดงสินค้าอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ณ อาคารแสดงสินค้า MakuhariMesse Hall 1-8 ที่จังหวัดชิบะซึ่งสินค้าที่จัดแสดงประกอบด้วย อาหาร เช่น ผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์การเกษตร อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์เนื้อ ผลิตภัณฑ์นม อาหารแช่เย็น แช่แข็ง เครื่องเทศ สมุนไพร เครื่องปรุง น้ำมัน อาหารปรุงสำเร็จ ของหวาน อาหารออร์แกนิค เครื่องดื่ม ทั้งมี และไม่มีแอลกอฮอล์ อื่นๆ หนังสือ นิตยสาร และบริการขนส่งอาหาร จำนวนผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าประมาณ 2,100 ราย จำนวน 3,000 คูหา คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานรวมทั้งสิ้น ไม่ต่ำกว่า 80,000 คน

          จุดประสงค์ในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าดังกล่าว เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพอาหารไทย ร่วมกับผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมแสดงสินค้าในงานแบบ Thailand Pavilion รวมทั้งสิ้น 47 บริษัท และแสดงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมอาหารในญี่ปุ่น และผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าจากต่างประเทศมากกว่า 30 ประเทศ ได้รับทราบและยอมรับในศักยภาพสินค้าไทย ความพร้อมในการที่ประเทศไทยจะเป็นครัวไทยสู่โลก ความพร้อมทั้งในด้านการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ด้านความปลอดภัย และสามารถ ตรวจสอบได้ (Traceability)

นอกจากนี้ เพื่อศึกษาและสำรวจตลาดความต้องการผู้บริโภคและแนวโน้มสินค้าอาหารในญี่ปุ่น และได้ทราบจุดแข็ง จุดอ่อน ประเทศคู่แข่งสินค้าอาหารจากต่างประเทศ ของไทยในตลาดญี่ปุ่น เพื่อประกอบการพิจารณาแนวนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ของกระทรวงพาณิชย์

ยุทธศาสตร์ของไทยต่อการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจกับประเทศญี่ปุ่น มี 3 ด้าน คือ 1.การส่งเสริมการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนไทย โดยสินค้าเป้าหมายของไทยในตลาดญี่ปุ่น ได้แก่ อาหาร ประกอบด้วย เนื้อไก่และเนื้อหมูแปรรูป อาหารทะเล อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ผักและผลไม้สดและแปรรูป รวมทั้งสินค้าเกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์อิเล็คทรอนิกส์และชิ้นส่วน เสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องประดับ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอางค์ สบู่และผลิตภัณฑ์รักษา และบำรุงผิว เป็นต้น

          ธุรกิจบริการเป้าหมาย ได้แก่ ร้านอาหารไทย ธุรกิจสุขภาพความงามและสปา ธุรกิจภาพยนตร์และดิจิตอลคอนเท้นท์ และ การลงทุนสาขาเป้าหมาย ได้แก่ สาขายานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ Aviation, Metal Fabrication ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วน เครื่องจักรและอุปกรณ์แปรรูปเกษตรและอาหาร พลังงานทดแทน อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ธุรกิจบริการต่าง ๆ

          2.ด้านการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงเจเทป้า(JTEPA)เน้นเร่งรัดการแก้ไขอุปสรรคและปัญหา และส่งเสริมอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยในการใช้ประโยชน์ การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ได้แก่ การผลักดันโครงการความร่วมมือเจเทป้าให้มีความคืบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความร่วมมือ 7 สาขา ประกอบด้วย 1. โครงการส่งเสริมการค้าและการลงทุนเพื่อ“ครัวไทยสู่ครัวโลก” 2.โครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 3. โครงการเศรษฐกิจสร้างมูลค่า 4. โครงการความร่วมมืออุตสาหกรรมเหล็ก 5. โครงการความร่วมมือ PPP 6. โครงการความร่วมมือพลังงานทดแทน 7. โครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์
          การเพิ่มช่องทางการขายสินค้า/ขยายธุรกิจ ผ่านการจัดกิจกรรมการตลาดเชิงรุก โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้า กิจกรรมจับคู่ธุรกิจ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยร่วมกับ ผู้นำเข้ารายใหญ่และห้างสรรพสินค้า ชั้นนำ การส่งเสริมการขายผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซเช่นwww.thaitrade.com เป็นต้น

          และ 3. การเสริมสร้างการเป็นพันธมิตร /หุ้นส่วนเศรษฐกิจของไทยกับญี่ปุ่น และยกระดับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออก และอนุภูมิภาค เช่น Mekong-Japan, ACMECS, GMS, IMT-GT เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลง AJCEP ส่งเสริมให้ไทยเป็น One Stop Service of ASEAN เช่นเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยง Value Chain in ASEAN และการเป็น Virtual Vertical Factory of Asia ผลักดันความร่วมมือ ASEAN+3 , ASEAN+6 เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางการค้าและมุ่งสู่การขยายการค้าสู่ประเทศที่สามร่วมกัน