เนื้อหาวันที่ : 2012-03-20 10:37:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1766 views

กระทรวงพลังงาน ชู สมุย ต้นแบบ Low Carbon Society

นักวิชาการชี้ปรับกรอบคิดเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม นำไทยก้าวสู่ Low Carbon Society ด้านกระทรวงพลังงาน เตรียมชู เกาะสมุย เป็นต้นแบบ Low Carbon Society ของประเทศไทย

          นักวิชาการชี้ปรับกรอบคิดเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม นำไทยก้าวสู่ Low Carbon Society ด้านกระทรวงพลังงาน เตรียมชู เกาะสมุย เป็นต้นแบบ  Low Carbon Society ของประเทศไทย

          รองปลัดกระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอ “เกาะสมุย” เป็น “ต้นแบบ” Low Carbon Society ของประเทศไทย พร้อมผลักดันนโยบายการพัฒนา Low Carbon Society ให้เกิดขึ้นจริง ด้านนักวิชาการเชื่อเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ SEE 2011 ทำให้หลายประเทศตื่นตัวและปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงานมากขึ้น

           ปิดฉากลงแล้วสำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติ The 4th International Conference on Sustainable Energy and Environment (SEE 2011) : A Paradigm shift to Low carbon Society ซึ่งจัดโดย บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม(JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากนักวิชาการภาคการศึกษา องค์กรด้านการวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจกว่า 200 คน ที่เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อต่างๆ รวม 130 บทความ จาก 18 ประเทศทั่วโลก โดยกว่า 40% เป็นผลงานวิจัยจากต่างประเทศ

          ดร.คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง Overview of energy situation and policy in Thailand ว่า สภาพอากาศทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงในขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสนใจตื่นตัวและวิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหา ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

          “Low Carbon Society คือประเด็นหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจ หลังจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยเองก็ได้มีการพัฒนาเรื่องของการประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการเรื่องเมืองพลังงานสะอาด เพื่อลดการใช้พลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น ทั้งนี้ ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้เสนอให้เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เข้าสู่ Low Carbon Society เพื่อนำร่องและผลักดันให้นโยบายการพัฒนา Low Carbon Society ให้เกิดขึ้นได้จริง การประชุมครั้งนี้จึงถือว่าเป็นเวทีที่ได้แลกเปลี่ยนทัศนคติและความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือในการดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป”

          รองศาสตราจารย์ ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการประชุมฯ กล่าวว่า หากพิจารณาถึงต้นเหตุของปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นพบว่าสาเหตุใหญ่มาจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ

การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นสิ่งจำเป็นและการใช้เทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจกยังไม่สามารถลดได้ตามทีโลกคาดหวัง เป้าหมายหลักของการจัดประชุมครั้งนี้คือ การเปลี่ยนกรอบความคิด (paradigm shift) เพื่อให้มีมุมมองใหม่ ๆ ในการเข้าสู่ low carbon society การประชุมสะท้อนกรอบความคิดของการ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานพลังงานเพื่อรองรับการปรับปรุงและส่งเสริม เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งในการใช้พลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงาน รวมถึงแนวทางการผลักดันนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมไปสู่การปฏิบัติจริงภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างต่อเนื่อง

          “ผลที่ได้ในการประชุมครั้งนี้คิดว่าโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ Low Carbon Society เท่าที่ฟังจากวิทยากรหลักทั้งจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ทุกคนต่างมีความคิดเห็นตรงกันว่า การเปลี่ยนกรอบความคิดเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สังคมก้าวไปสู่ Low Carbon Society โดยเฉพาะ การเปลี่ยนกรอบความคิดเพื่อร่วมกันรับผิดชอบแก้ไขสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะนี้ให้ดีขึ้น”

          รองศาสตราจารย์ ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การสนับสนุนแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการในเรื่องดังกล่าวระหว่างมหาวิทยาลัยเกียวโตกับมจธ. และหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการวิจัยกับปัญหาพลังงานสะอาด ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีเชื้อเพลิงและพลังงานทดแทนใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย เพราะบัณฑิตเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่ Low Carbon Society

“ความเข้มแข็งในการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการของหน่วยงานต่างๆ คือส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนนโยบายไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งส่วนหนึ่งคือการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องพลังงาน ขณะเดียวกันต้องมีการปรับปรุงแก้ไขนโยบายคือ 1.ลดการใช้ 2.ต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขไปพร้อมๆกัน และที่สำคัญคือต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน หรือที่เรียกว่า CO Carbon Society ที่มีการดึงและปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปเท่าๆ กันในกระบวนการทำงาน”

          อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเชื่อว่าการพัฒนาประเทศสู่ Low Carbon Society โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสมควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงจากนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง จะช่วยป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย และที่สำคัญจะช่วยให้ประชาคมโลกจะก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด.