เนื้อหาวันที่ : 2012-03-09 12:10:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1371 views

แลงเซส ชูนวัตกรรม ยางรถยนต์สีเขียว เสริมแกร่งอุตฯ ยานยนต์ไทย

แลงเซส ชูเทคโนโลยียางรถยนต์สีเขียว ร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย

แลงเซส ชูเทคโนโลยียางรถยนต์สีเขียว ร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย

แลงเซสประกาศให้ปี พ.ศ. 2555 เป็นปีแห่งยานยนต์สีเขียว (Green Mobility) เปิดวิสัยทัศน์เทคโนโลยียางรถยนต์สีเขียว (Green tires) เพื่อร่วมเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย พร้อมให้ความรู้ในเรื่อง ข้อบังคับการติดฉลากยางรถยนต์ ซึ่งจะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลก และการเสริมสร้างความปลอดภัยในการขับขี่อย่างยั่งยืน เตรียมเปิดตัวเทคโนโลยีสีเขียวที่บูธ E4 ในงาน Rubber Tech Expo 2012 ที่ไบเทคฯ บางนา

ผู้บริหารระดับสูงของแลงเซส ซึ่งเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำของโลกจากประเทศเยอรมนี เปิดตัวเทคโนโลยียางรถยนต์สีเขียว (Green tires) ต่อสื่อมวลชนไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตยางรถยนต์แห่งโลกอนาคตดังกล่าว จะนำมาซึ่งศักยภาพสูงสุดในการประหยัดเชื้อเพลิงและการมุ่งพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

ผู้บริหารของบริษัทยังได้กล่าวถึง ประเด็นของยานยนต์สีเขียว (Green Mobility) ว่า ในอนาคตอันใกล้ ทั้งผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมจะตระหนักดีถึงความสำคัญของเทคโนโลยียานยนต์สีเขียว ซึ่งจะกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตยานยนต์และพาหนะในรูปแบบอื่นๆ

มร. อีธาน ซิกเลอร์

“เราเห็นว่า ในประเทศไทยเองก็ได้มีการตอบรับเป็นอย่างดีในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม สำหรับในภาคธุรกิจนั้น เราก็มองเห็นว่าองค์กรธุรกิจของไทยกำลังพยายามอย่างยิ่งจะก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม” มร. อีธาน ซิกเลอร์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ประจำอินเดียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของหน่วยธุรกิจ ยางบิวทิว และ ยางบิวทาไดอีน ของ แลงเซส กล่าว

“ยางสังเคราะห์นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน (Nd-PBR) ที่ผลิตโดยแลงเซส สามารถใช้เพื่อผลิตยางรถยนต์ที่มีความประหยัดและมีแรงเสียดทานการหมุนของล้อรถในระดับต่ำ การตัดสินใจที่จะสร้างโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน (Nd-PBR) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกของเราที่ประเทศสิงคโปร์นั้น แสดงให้เห็นว่าแลงเซสรู้ทิศทางของความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นต่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสารเคมีทางเลือกเพื่อการประหยัดพลังงาน” มร. ลิม ยิว ซี ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาการตลาด ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ของหน่วยธุรกิจ ยางบิวทาไดอีน กล่าว

มร. ลิม ยิว ซี

ยางรถยนต์สีเขียวกับประสิทธิภาพการลดแรงต้านการหมุนของล้อ
การขับขี่ยวดยานบนท้องถนน ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนก๊าซที่ถูกปลดปล่อยทั้งหมดในโลก ยางรถยนต์นั้นเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์  และทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์จากการขับขี่ จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจที่ประเทศต่างๆในกลุ่มสหภาพยุโรปกำลังมีมาตรการเพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเริ่มจากยางรถยนต์

มาตรฐานการติดฉลากยางรถยนต์ ซึ่งสหภาพยุโรปจะนำมาใช้ภายในปีนี้ จะมีการระบุคุณสมบัติของยางในแง่ของความประหยัดเชื้อเพลิง การยึดเกาะในสภาวะถนนลื่น และมลภาวะทางเสียง

ยิ่งไปกว่านั้น จะมีการกำหนดระดับประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานตั้งแต่ A ถึง G คล้ายกับที่ใช้กับอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น ตู้เย็นหรือเครื่องซักผ้า ฉะนั้น ยางรถยนต์ที่มีแรงเสียดทานในระดับต่ำมาก ซึ่งจะก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานในระดับสูง จะได้รับการจัดมาตรฐานในระดับ A ซึ่งผู้บริโภคจะรู้ได้ทันทีว่า ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ที่กำลังจะซื้อนั้น มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพียงใด

“เรากำลังพัฒนาสารสังเคราะห์และสารเติมแต่งเพื่อผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งจะสามารถลดแรงเสียดทานได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่มีผลกระทบต่อความสามารถในการยึดเกาะถนนและอายุการใช้งาน” มร. อีธาน ซิกเลอร์ กล่าว

การลดแรงเสียดทานสามารถจะช่วยในการประหยัดพลังงานได้ ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการใช้เชื้อเพลิงตั้งต้นของยานยนต์ประมาณ 10 ลิตรต่อการขับขี่ 100 กิโลเมตร โดยการใช้ยางสีเขียวนั้น จะใช้เชื้อเพลิงลดลงเหลือประมาณ 9.5 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ ประมาณ 1.2 กิโลกรัม ต่อ 100 กิโลเมตร ดังนั้นยางที่ทำจากสารสังเคราะห์พิเศษเหล่านี้ จะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการช่วยปกป้องชั้นบรรยากาศของโลก มร. อีธาน ซิกเลอร์ กล่าวเสริม

บทบาทของยางรถยนต์สีเขียวจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากความต้องการในการใช้รถยนต์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ภาครัฐต้องหันมาบังคับใช้ยานยนต์สีเขียวซึ่งมีแรงต้านการหมุนต่ำ พร้อมทั้งมีความปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ

แลงเซสประมาณการว่า ส่วนแบ่งตลาดของยางรถยนต์สีเขียวที่มีประสิทธิภาพสูงนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 77 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับยางรถยนต์ธรรมดาภายในปี พ.ศ. 2558  เป็นที่คาดการณ์กันว่า ประเทศในทวีปเอเชียจะมีการประกาศใช้ข้อบังคับเรื่องการติดฉลากยางรถยนต์ ดังที่จะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ในสหภาพยุโรป โดยคาดว่าประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำในเรื่องดังกล่าว