เนื้อหาวันที่ : 2012-03-02 09:40:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1233 views

ดัชนีอุตฯ เดือนม.ค. 55 สดใส กำลังผลิตแกร่ง ผลผลิตเพิ่มขึ้น

สศอ. เผยดัชนีอุตสาหกรรมเดือนแรกปี 55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 54 12.7% อุตฯ HDD ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ คึกคักกำลังการผลิตเพิ่มทั่วหน้า

สศอ. เผยดัชนีอุตสาหกรรมเดือนแรกปี 55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 54 12.7% อุตฯ HDD ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ คึกคักกำลังการผลิตเพิ่มทั่วหน้า

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผย ดัชนีอุตสาหกรรม เดือนแรกปี 2555 ปรับค่าที่ 158.61 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ร้อยละ 12.7 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.1 โดยอุตสาหกรรมหลัก Hard disk drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับเพิ่มอยู่ที่ 58.48

นายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2555 ยังคงลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กระเตื้องขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ที่ลดลงไปถึงร้อยละ 25.3 จากการฟื้นฟูการผลิต ตลอดจนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนของผู้ผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับการผลิตที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ระดับการผลิตยังลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30-40

โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ 158.61 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ร้อยละ 12.74 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนขยายตัวลดลงร้อยละ 15.15 โดยมีอุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2554 ที่สำคัญได้แก่ Hard disk drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ระดับร้อยละ 58.48 เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ที่ร้อยละ 51.94 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2554 ที่อยู่ที่ร้อยละ 62.32 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2554 ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน Hard disk drive เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น  

“ผลจากการฟื้นฟูการผลิตของผู้ประกอบการตั้งแต่เดือนธันวาคมปีก่อน ทำให้ภาวะการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูงและใช้เครื่องจักรไม่ซับซ้อน เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนพลาสติก ชิ้นส่วนแปรรูปโลหะ กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตามในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและนมขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมคุณภาพ ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในขั้นตอนการฟื้นฟูซ่อมแซม/ติดตั้งเครื่องจักรใหม่ หรือรอการนำเข้าเครื่องจักร จึงใช้เวลานานกว่าถึงจะกลับมาเริ่มการผลิตได้อีกครั้ง

ในขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมได้มีการฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วและเริ่มป้อนชิ้นส่วนให้       ผู้ประกอบรถยนต์ทำการผลิตได้แล้วบางส่วน และส่วนหนึ่งยังคงนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งในเดือนมกราคมผู้ผลิตรถยนต์สามารถทำการผลิตได้ตามปกติใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดอุทกภัย โดยระดับการผลิตต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 เท่านั้น แม้ว่าจะมีปัญหาในเรื่องการส่งมอบชิ้นส่วนที่ไม่ทันต่อความต้องการอยู่บางส่วน

ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโรงงานกระจุกตัวอยู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีมากกว่า 200 โรงงาน ส่วนใหญ่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากต้องใช้เวลาในการซ่อมแซม ติดตั้งเครื่องจักรใหม่ และรอการฟื้นฟูและอาจเปิดล่าช้าถึงเดือนธันวาคมทำให้ในภาพรวมของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์มีระดับการผลิตต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 45 และ 32 ตามลำดับ” นายอภิวัฒน์กล่าว

 นายอภิวัฒน์กล่าวอีกว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากช่วงปลายปีก่อนที่เกิดอุทกภัย จากมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการของภาครัฐและสถาบันการเงิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยฟื้นฟูหลังน้ำลด เช่น การจ่ายเงินชดเชยบ้านที่ถูกน้ำท่วม การขายสินค้าราคาถูกหรือนำคูปองส่วนลดไปซื้อสินค้าทำให้การใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมเพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นในสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์

สำหรับสรุปตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index – MPI) ประจำเดือนมกราคม 2555 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนดังนี้ ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 158.61 ลดลง -15.15% จากระดับ 186.93 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 162.32 ลดลง -11.20% จากระดับ 182.80 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 181.48 ลดลง -3.05 จากระดับ 187.18 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 108.13 ลดลง -8.24% จากระดับ 117.83 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 157.90 ลดลง 2.62% จากระดับ 153.86 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.48%