เนื้อหาวันที่ : 2012-02-20 13:43:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1288 views

เชิดพงษ์ ลั่นเดินหน้าผลักดันลอยตัวราคาน้ำตาลรับ AEC ปี 2558

เชิดพงษ์ เปิดวิสัยทัศน์หลังรับตำแหน่งประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เดินหน้าผลักดันการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมแก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำ

          เชิดพงษ์ เปิดวิสัยทัศน์หลังรับตำแหน่งประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เดินหน้าผลักดันการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมแก้ปัญหาผลผลิตตกต่ำ

          นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ เปิดวิสัยทัศน์หลังรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลคนใหม่ เดินหน้าผลักดันการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ป้องกันผลกระทบระยะยาว ชี้การแก้ปัญหาเรื่องผลผลิตอ้อยต่อไร่ต่ำยังทำได้ช้า แนะรัฐจัดสรรงบอุดหนุนอย่างจริงจัง พร้อมร่วมวิจัยพัฒนาพันธุ์อ้อยให้มีค่าความหวานสูงขึ้น หวังให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกอ้อยมีรายได้ที่ยั่งยืน

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยในโอกาสที่เข้ามารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายคนใหม่ว่า เรื่องที่เห็นว่าจะต้องผลักดันให้สอดคล้องกับกระแสของโลก ก็คือเรื่องการยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลทรายในประเทศ

เพราะการควบคุมราคาน้ำตาลทรายในขณะที่ไม่สามารถควบคุมราคาผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบได้ คงไม่เหมาะสมและถูกต้องนัก และถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายในประเทศ

“ผมสนับสนุนการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศให้เป็นไปตามกลไกของตลาด โดยอิงราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก เพราะสอดคล้องกับการเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ที่จะให้เสรีแก่ประเทศสมาชิกในอาเซียนในด้านของการค้า บริการ และการลงทุน

ซึ่งหากราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศของไทยยังถูกควบคุมราคา โดยมีราคาจำหน่ายต่ำกว่าต่างประเทศ ก็จะทำให้มีการซื้อน้ำตาลทรายในประเทศไปจำหน่ายในต่างประเทศเพิ่มขึ้น หรือมีการลักลอบนำน้ำตาลทรายไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน อันอาจส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำตาลทรายบริโภคภายในประเทศ และเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยในที่สุด” นายเชิดพงษ์กล่าว

          ทั้งนี้ การลอยตัวราคาน้ำตาลทรายยังเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย ต้องพัฒนาตนเอง เพื่อให้พร้อมรับการแข่งขันอย่างเสรีอีกด้วย โดยจุดอ่อนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในปัจจุบันก็คือผลผลิตต่อไร่บ้านเรายังต่ำ ทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกอ้อยต่อไร่สูง ซึ่งปัญหานี้มีมานานแล้ว แต่ได้รับการแก้ไขหรือพัฒนาค่อนข้างช้า

ทาง 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย โดยหาวิธีการที่เหมาะสมที่จะทำให้ผลผลิตอ้อยต่อไร่เพิ่มขึ้น รวมถึงการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์อ้อยใหม่ๆ ให้มีความหวานสูงและต้านทานโรคแมลงให้มากขึ้น

          “การจะทำให้ผลผลิตอ้อยต่อไร่เพิ่มขึ้น คงต้องใช้เวลาพอสมควร และต้องมีเงินทุนสนับสนุน  ดังนั้น ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลควรร่วมมือกันผลักดันรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรงบประมาณและดำเนินการในเรื่องนี้  เพราะ ถ้าดำเนินการได้อย่างจริงจัง จะส่งผลให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยเป็นประโยชน์ต่อชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย” ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกล่าว

          นายเชิดพงษ์กล่าวด้วยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายจะอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการผลิตน้ำตาลทรายและความหลากหลายของการพัฒนาตลาดผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายภายในประเทศ เข้าไปให้ความช่วยเหลือและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญาส่งอ้อยให้โรงงาน

ซึ่งโรงงานน้ำตาลทรายทุกแห่งมีฝ่ายไร่หรือฝ่ายที่ดูแลเกษตรกรอยู่แล้วจะทำหน้าที่ติดตามให้คำแนะนำช่วยเหลือแก่ชาวไร่อ้อยในการเพิ่มผลผลิตของชาวไร่อ้อยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านผลผลิตและเสถียรภาพทางด้านการผลิตน้ำตาลทรายให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งภายในประเทศและเพื่อการส่งออก

          ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายกล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ดำเนินการและพัฒนามาอย่างยาวนาน สะสมประสบการณ์และผ่านความยากลำบากในช่วงราคาตลาดโลกตกต่ำมาด้วยดี แตกต่างจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมาก่อน สุดท้ายก็ประสบความล้มเหลว เพราะการบริหารจัดการที่ไม่ดี

มาถึงวันนี้ไทยเรามีความเข้มแข็งและศักยภาพที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้ ความได้เปรียบของไทยอยู่ที่ประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตน้ำตาลของโรงงานน้ำตาล รวมทั้งการมีระบบคู่สัญญาการส่งอ้อยระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลที่เรียกว่า “โควตาอ้อย” ที่มีประสิทธิภาพ

          “อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายถือได้ว่ามีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างยิ่ง เพราะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งส่งออกน้ำตาลทรายได้เป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศบราซิล นำเงินตราต่างประเทศเข้ามาเพื่อการพัฒนาประเทศได้เป็นจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี” นายเชิดพงษ์กล่าว