เนื้อหาวันที่ : 2012-02-17 17:45:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2874 views

มา Google Google กัน

ผลสำรวจล่าสุดเผยคนไทยใช้กูเกิ้ลเป็นเครื่องมือในการค้นหาถึง 99% จะค้นหาอะไรก็ต้องถามกูเกิ้ล ถึงขนาดสามีหายก็ยังเผลอใช้บริการกูเกิ้ล แต่เชื่อแน่ว่าน่าจะมีน้อยคนที่จะ “Google” Google

ชูพล ศรีเวียง

สวัสดีครับ แกะกล่องบทความใหม่เอี่ยมอ่องบทแรกของ ”มัคคุเทศก์ออนไลน์” บทนี้ ขออารัมภบทสักเล็กน้อยว่า “มัคคุเทศก์ออนไลน์” เป็นบทความที่ผู้เขียนตั้งใจไว้ว่าจะขออาสาเป็นไกด์(เถื่อน) พาคุณผู้อ่านท่องเที่ยวไปในโลกออนไลน์ โดยสรรหาเรื่องราวที่(พยามให้)มีทั้งสาระและบันเทิงครบครันเกี่ยวกับเว็บไซท์ต่างๆ มาแนะนำ มีทั้งเว็บใหม่ๆ ที่น่าสนใจ หรือเว็บที่เราท่านคุ้นเคยกันดี แต่หยิบยกแง่มุมใหม่ๆ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนมานำเสนอ

ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ขอให้การไปเที่ยวโลกออนไลน์ด้วยกันของเรา ไม่ว่าจะเป็นทริปไหนๆ เป็นบรรยากาศสบายๆ ใครใคร่แต่งเนื้อแต่งตัวอะไรก็เชิญตามอัธยาศัย จะนุ่งผ้าขาวม้า ชุดนอนบางเบา หรือไม่ใส่อะไรเลยก็ยังไม่มีใครว่า(ถ้าไม่มีใครเห็น) แค่คุณมีคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนที่ต่ออินเตอร์เน็ตได้เป็นพอ เพียงเท่านี้เราก็สามารถเข้านอกออกใน(เว็บ)โดยไม่ต้องอาศัยวีซ่าไปด้วยกันได้แล้ว

ทริปแรกที่ผมจะพาคุณผู้อ่านไปเที่ยวนี้มีจุดหมายปลายทางชื่อว่า “Google” ซึ่งหลายท่านอาจนึกในใจว่าจะต้องมาแนะนำอะไรกันอีกหรือนี่ในเมื่อทุกวันนี้ คำว่า“Google” ได้ถูกใช้เป็นคำกริยาแทนคำว่า “ค้นหา” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะคนไทยที่ล่าสุดมีผลการสำรวจออกมาว่าใช้กูเกิ้ลเป็นเครื่องมือในการค้นหาถึง 99% (ผลสำรวจจาก The National Science and Technology Development Agency ร่วมกับ Internet Innovation Research Center) จะค้นหาอะไรก็ต้องถามกูเกิ้ล ถึงขนาดสามีหายก็ยังเผลอใช้บริการกูเกิ้ล แต่เชื่อแน่ว่าน่าจะมีน้อยคนที่จะ “Google” Google

ก่อนจะมาเป็นกิจการยักษ์ใหญ่ที่กำลังครองโลกอย่างทุกวันนี้ Google เป็นแค่ Research Project ของคู่กัดที่ไม่ถูกชะตากันตอนแรกเจอ แต่กลายมาเป็นเพื่อนเลิฟในภายหลัง(ออกแนวหนังไทยดรามา) อย่าง Larry Page และSergey Brinนักศึกษาปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัย Stanford ของอเมริกา ที่สร้างเสิร์ทเอ็นจิ้นที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลของแต่ละเว็บไซท์แล้วนำมาจัดลำดับความสำคัญด้วยสมมุติฐานว่าเว็บไหนมีลิงค์เชื่อมโยงจากเว็บอื่นมาหามากที่สุดและยิ่งถ้าเว็บที่เชื่อมโยงมาหาเป็นเว็บที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ

เว็บนั้นก็จะถูกนำมาแสดงผลก่อนหรือที่เรียกว่า PageRank อันโด่งดังที่ตั้งตามชื่อของ Larry Page และมีความหมายอีกนัยสื่อถึงการจัดอันดับให้กับ(เว็บ)เพจ ซึ่งถ้าจะอธิบายหลักการแสดงผลการค้นหาที่เรียกว่า PageRank นี้ให้เข้าใจกันได้ง่ายยิ่งขึ้นก็อาจจะคล้ายๆ กับหลักการนำเสนอข่าวหนังสือพิมพ์ เช่น ถ้าคุณเป็นแค่นายสมชายอะไรสักคนก็จะเป็นข่าวเล็กๆ ท้ายเล่มที่ไม่สำคัญเวลาที่คุณเดินตกท่อ

แต่ถ้าคุณเป็นนายสมชายลูกท่านรัฐมนตรีข่าวของคุณก็จะถูกนำเสนออยู่หน้าหนึ่งพาดหัวตัวใหญ่ในทันทีทั้งที่เดินตกท่อเดียวกันและเช่นเดียวกับอีกหลายกิจการระดับโลกที่ต้องมีตำนานเรื่องเล่าให้กล่าวขานถึง ชื่อGoogle มาจากการสะกดคำว่า “googol” (แปลว่า 10 ยกกำลัง 1 ร้อยหรือเลข 1 ที่ตามด้วยเลขศูนย์ 100 ตัว) ที่ผิดพลาดของ Sean Anderson หนึ่งในทีมงานผู้ก่อตั้งขณะกำลังค้นหาชื่อเพื่อจดโดเมน(ชื่อเว็บไซท์) และพบว่าชื่อ google.comยังไม่มีใครจับจอง (http://graphics.stanford.edu/~dk/google_name_origin.html) เค้าจึงจดทะเบียนไว้ ก่อนจะรู้ภายหลังว่าสะกดผิด(!!)

ส่วนอีกหนึ่งตำนานก็คือเรื่องเกี่ยวกับหน้า homepage สุดแสนจะคลาสสิคของ google ที่เรียบง่าย สะอาดตา มีที่มาง่ายๆ แค่ว่าทั้ง Larry Page และ Sergey Brin ไม่สันทัดกับภาษา HTML ที่ใช้ในการเขียนเว็บ ทั้งคู่ก็เลยช่วยกันออกแบบเอง แต่กลับกลายเป็นว่าเจ้าความเรียบง่ายที่ไม่มีโฆษณามาเกะกะกวนตานี่แหล่ะที่ทำให้ผู้ใช้ทั่วโลกชื่นชอบ

“Don’t be evil” คือปรัชญาสำคัญที่ Google ยึดถือ ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่าคนเราสามารถยิ่งใหญ่หรือร่ำรวยได้โดยไม่จำเป็นต้องเลว "You can make money without doing evil." (หัวใจคุณหล่อมาก) จึงทำให้แนวทางการดำเนินธุรกิจและทุกๆ นวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดย google ล้วนแล้วแต่ตั้งมั่นอยู่บนปรัชญานี้

เนื่องจากกูเกิ้ลยิ่งใหญ่เกินกว่าจะพาเที่ยวให้ทั่วถึงได้ในคราวเดียว ผมคงต้องขออนุญาตเชื้อเชิญคุณผู้อ่านแวะพักจิบน้ำจิบท่ากันตรงนี้ ก่อนจะออกเดินทางไปทำความรู้จักกับนวัตกรรมหลากหลายของ Google กันในคราวหน้า....ทริปนี้ยังมีต่อนะครับ

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก Column มัคคุเทศก์ออนไลน์ Add Free Magazine