เนื้อหาวันที่ : 2007-05-08 08:26:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1337 views

"ทุนมนุษย์" ปรับตัวสู้เศรษฐกิจทรุด องค์กรเข้มคุมต้นทุนใช้คนคุ้ม

ปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจหดเหลือ 3.0-3.5% กระเทือนทุนมนุษย์ อุตฯนำเข้ากระทบหนัก บริษัทจอยต์เวนเจอร์ถูกต่างชาติฮุบ บางแห่งกระโดดหนีไปจีน ก่อสร้าง-รถยนต์โดนไม่น้อย วางแผนตั้งรับกันขนานใหญ่ ยังไม่ต้องพูดถึงโบนัส ตั้งเป้าว่าทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด สร้างกิจกรรม แรงงานสัมพันธ์กันอุตลุด ให้พนักงานรับรู้ตามสภาพเป็นจริง ยกระดับเป็นกองหน้า

ปัญหาการเมือง-เศรษฐกิจหดเหลือ 3.0-3.5% กระเทือนทุนมนุษย์ อุตฯนำเข้ากระทบหนัก บริษัทจอยต์เวนเจอร์ถูกต่างชาติฮุบ บางแห่งกระโดดหนีไปจีน ก่อสร้าง-รถยนต์โดนไม่น้อย วางแผนตั้งรับกันขนานใหญ่ ยังไม่ต้องพูดถึงโบนัส ตั้งเป้าว่าทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด สร้างกิจกรรม แรงงานสัมพันธ์กันอุตลุด ให้พนักงานรับรู้ตามสภาพเป็นจริง ยกระดับเป็นกองหน้า

 .

นายฉัตรพงษ์ วงศ์สุข ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาองค์กรและระบบทรัพยากรบุคคล บริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ในปีนี้ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการองค์กรอย่างมาก เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายคาดว่าจะชะลอตัวลง มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3.0-3.5 ย่อมส่งผลกระทบต่อแรงงานโดยตรง เพราะเมื่อไรที่เศรษฐกิจไม่ดี ผู้ประกอบการจะหันมาดูเรื่องต้นทุน ควบคุมค่าใช้จ่าย หากออร์เดอร์ไม่มี การจ้างงานก็จะต้องลดตามไปด้วย

.

"ที่ผ่านมาประเทศไทยมีบทเรียนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาแรงงานหลายครั้ง ฉะนั้นในปีนี้การจะทำอะไรจึงต้องรอบคอบ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว การรับคนใหม่จะต้องไม่รับเกินความจำเป็น และต้องพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ให้ทำงานอย่างคุ้มค่ามากที่สุด โดยธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเยอะที่น่าจับตามากที่สุดขณะนี้ คือ อุตสาหกรรมที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพราะค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตพุ่งอย่างน่ากลัว"

.

นายฉัตรพงษ์กล่าวต่อไปว่า ฝ่ายพัฒนาบุคลากรคงต้องลงไปดูในรายละเอียด ทั้งเรื่องของการปรับค่าจ้างแรงงาน ทำอย่างไรจะไม่เป็นภาระต่อต้นทุนขององค์กร หากต้องมีการลดพนักงานจริงๆ จะวิเคราะห์แยกแยะอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ขึ้นมาในภายหลัง ไม่เกิดข้อโต้แย้งเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแรงงานที่ต้องออกจากงานไปเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อแรงงานที่ทำงานอยู่ภายในองค์กร การสื่อสาร การออกมาตรฐานต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

.

ด้านนายบรรจบ ศรีสุข ประธานชมรมบริหารงานบุคคล แหลมฉบัง กล่าวว่า ขณะนี้ในกลุ่มบริหารงานบุคคลภาคตะวันออกพยายามสร้างเครือข่ายเป็นพันธมิตรซึ่งกันและกัน เพราะภาพรวมของประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาอยู่ในสภาพที่น่าห่วง แม้ว่าการส่งออกจะยังดีอยู่แต่ยอดขายภายในประเทศตกลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ น้ำท่วมภาคเหนือ สถานการณ์การเมืองที่ยังไม่มีความมั่นคง ทำให้ซัพพลายเออร์ลดลงไป นักลงทุนต่างชาติก็ถอยห่าง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ถดถอย ดังนั้นสิ่งที่ฝ่ายบริหารงานบุคคลภาคตะวันออกกลัวมากที่สุด คือ ในช่วงปลายปีหากพนักงาน คนทำงานยังมีความคิดเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนกรอบความคิด มาช่วยองค์กรคิดในฐานะคนทำงานว่าจะทำอย่างไรบริษัทจึงจะอยู่รอดได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะในปีนี้ หลายองค์กรจะประสบปัญหา

.

กลยุทธ์ที่ทุกอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการเชิงรุกในปีนี้คือ การสร้างเสริมแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบการ เพราะที่ผ่านมาเรื่องนี้เป็นปัญหามาตลอด แค่รัฐบาลประกาศวันหยุดเพิ่มในช่วงสงกรานต์หรือเทศกาลอื่นๆ ก็สร้างปัญหาให้กับองค์กรอย่างมากมาย ยิ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ บริษัทยิ่งต้องทำความเข้าใจกับพนักงาน เพราะหากพนักงานไม่เข้าใจปัญหา ก็จะทำให้องค์กรปั่นป่วน

.

ขณะนี้หลายโรงงานเริ่มลดค่าล่วงเวลา (โอที) เนื่องจากออร์เดอร์ไม่มี บริษัทที่จอยต์เวนเจอร์ กับต่างชาติก็ถูกต่างชาติเทกโอเวอร์ไปหลายแห่ง นักลงทุนหลายแห่งก็ย้ายฐานไปจีน เวียดนาม

.

หน้าที่ของฝ่ายพัฒนาบุคลากรในวันนี้คือต้องสื่อสารกับทุกคนในองค์กรตลอดเวลา รายงานสถานการณ์ของบริษัททั้งยอดขาย ค่าใช้จ่าย เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ปัญหาร่วมกัน เมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้นจะสามารถแก้ไขได้ง่าย

.

ด้านนายดิลก ถือกล้า ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัท โซนี ไทย จำกัด กล่าวว่า หากดูจากตัวเลขจีดีพีที่ทางแบงก์ชาติปรับลดลงเชื่อว่าแรงงานได้รับผลกระทบแน่ แต่จะไม่เป็นลักษณะเหมือนปี 2540 ที่ล้มเป็นโดมิโนแทบทุกอุตสาหกรรม แต่วิกฤตในปีนี้น่าจะคล้ายกับปี 2535 คือมีสถานการณ์เร่งเร้า ให้เกิดวิกฤตที่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรม บางประเภทเท่านั้น ตรงนี้จึงเป็นภาระของฝ่ายพัฒนาบุคลากรที่จะต้องมอนิเตอร์สถานการณ์

.

ของประเทศตลอด และต้องประเมินให้ได้ว่าปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกระทบกับอุตสาห กรรมอะไรบ้าง ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่า ต้นทุนแรงงานที่จ่ายอยู่ในขณะนี้สูงไปหรือต่ำไปถ้าเทียบกับอนาคตของธุรกิจ เพราะปัญหาแรงงานใน ปัจจุบันซับซ้อนกว่าที่ผ่านมามาก มีกลุ่มการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้นนอกจากแผนระยะสั้น ระยะยาวแล้วยังต้องมีแผนฉุกเฉิน และมีการสื่อข้อความถึงแรงงานแบบชัดเจน ถ้ากระทบมากจะต้อง

.

ในขณะที่นายวิโรจน์ สิริจันทรานนท์ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัท ไทยซัมมิท โอโต้พาร์ท อินดัสตรี จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สิ่งที่น่ากังวลใจเป็นพิเศษ คือ แนวความคิดของผู้นำแรงงานในหลายๆ สหภาพในวันนี้ผูกโยงกันเป็นสหพันธ์แรงงานมีการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง เรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ  ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจขาลง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าจะช่วยกันประหยัดอย่างไร จะทำอย่างไรยอดขายจึงจะเพิ่ม ทำความเข้าใจกับเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป การจะไปหวังโบนัส 4-5 เดือนเหมือนปีที่ผ่านมาคงไม่ได้

.

นปีนี้ฝ่ายบริหารงานบุคคลคงจะทำงานเหมือนปีก่อน ๆ ที่ผ่านมาไม่ได้ แต่ต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถของตัวเองนอกจากส่งเสริมพัฒนาคุณภาพแรงงานแล้วยังต้องสร้างความเข้าใจกับสหภาพแรงงาน เป็นกองหน้าร่วมกับผู้บริหาร คอยระมัดระวังสถานการณ์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ สร้างภาวะสันติสุขให้เกิดในองค์กรให้ได้

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ