เนื้อหาวันที่ : 2012-02-15 15:05:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1135 views

วิคเทมชูไทยเป็นศูนย์กลางอุตฯอาหารสัตว์อาเซียน

วิคเทม ลุยจัด VICTAM ASIA 2012 สุดยอดงานแสดงสินค้า และเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในไทย โปรยยาหอมไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางอุตฯ อาหารสัตว์อาเซียน

วิคเทม ลุยจัด VICTAM ASIA 2012 สุดยอดงานแสดงสินค้า และเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในไทย โปรยยาหอมไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางอุตฯ อาหารสัตว์อาเซียน

ไทยโชว์ศักยภาพจัดงานระดับโลก VICTAM ASIA 2012 เพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์เลี้ยง และอุตสาหกรรมการแปรรูปธัญพืชที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จัดโดย วิคเทม อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับ เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค

พร้อมยกให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังประสบความสำเร็จอย่างสูงในงาน VICTAM ASIA 2010 ด้วยยอดเงินสะพัดร่วม 2,000 ล้านบาท โดยได้รับเกรียติจากนายยุคล ลิมแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน ซึ่งมีผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอาหารสัตว์จากนานาประเทศเข้าร่วมงานกว่า 250 ราย และผู้เข้าชมงานกว่า 20,000 คน ย้ำเชื่อมั่นไทยยังผงาดในตลาดอาหารสัตว์สากล แม้เผชิญหน้าวิกฤติอุทกภัยครั้งร้ายแรง เหตุพื้นฐานแข็งแกร่ง

มร.เฮงค์ แวน เดอ บัน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วิคเทม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการจัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ระดับนานาชาติ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ เปิดเผยว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการจัดงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่แนวโน้มความต้องการอาหารสัตว์ในตลาดโลกมีทิศทางที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนและอินเดีย

ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เติบโตอย่างรวดเร็ว วารสาร Feed International ระบุว่าตัวเลขการผลิตอาหารสัตว์ของโลกเพิ่มขึ้น 14% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและเพิ่มขึ้น 11% ตั้งแต่ปี 2543 ยอดรวมการผลิตในปี 2550 เท่ากับ 680.4 ล้านตัน โดยบราซิลเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ที่สุดของโลก (ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 6.5%-7% ในปี 2549 เท่ากับ 48.36 ล้านตัน)

สอดคล้องกับข้อมูลจาก Euromonitot International ที่ระบุว่าจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลกส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตในอุตสาหกรรมดังกล่าวของภูมิภาคเอเชีย ตัวเลขนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียยังมีพื้นฐานการผลิตและบริโภคที่แข็งแกร่งโดย Euromonitot International ยังระบุว่า ตั้งแต่ปี 2553-2558 อินเดียจะมีอัตราการเจิรญเติบโตของยอดขายอาหารสัตว์เป็นอันดับหนึ่ง คือ 13.8% คิดเป็นมูลค่า 83 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ

ในขณะที่ไทยและจีนมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 8.3% และ 7.7% คิดเป็น 456 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และ 476 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ซึ่งหมายความว่าในปี 2558 ไทยและจีนจะมียอดขายอาหารสัตว์รวมกันสูงกว่าอินเดียคือ 932 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ทำให้เทรนด์ของอุตสาหกรรมดังกล่าวมุ่งสู่ภูมิภาคเอเชียอย่างแน่นอน

ดังนั้น วิคเทม อินเตอร์เนชั่นแนล จึงได้กำหนดจัดงาน VICTAM ASIA 2012 ขึ้นอีกครั้ง และยิ่งใหญ่กว่าครั้งที่ผ่านมา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา บนพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร

โดยได้นำเสนอนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมการแปรรูปธัญพืชนานาชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการแสวงหาวัตถุดิบ ส่วนผสม การผลิต เทคโนโลยี เครื่องจักร การแปรรูป การเก็บรักษา และกระบวนการขนส่ง แบบครบวงจร จากผู้ประกอบการทั่วโลกกว่า 250 ราย เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ตลอดจนนำเทคโนโลยีมายกระดับมาตรฐานการผลิตให้กับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทยอีกด้วย โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 20,000 คน และมีเม็ดเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท

ซึ่งจะมีบริษัทเข้าร่วมแสดงในงานกว่า 250 บริษัท จากทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี จีน มาเลเซีย ไทย ฯลฯ ประธานบริหารยังกล่าวต่อไปว่า “เรามีความเชื่อมั่นว่าแม้ไทยจะเผชิญหน้ากับวิกฤติหลายเรื่องทั้งสถานการณ์ความซบเซาทางเศรษฐกิจ ภาวะอุทกภัยร้ายแรง แต่ด้วยพื้นฐานด้านการผลิตที่แข็งแกร่ง อย่างเช่นแหล่งวัตถุดิบและทักษะฝีมือแรงงาน ที่มีความได้เปรียบกว่าประเทศผู้ผลิตอื่น น่าจะทำให้ไทยยังสามารถแข็งแกร่งพอที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้ ด้วยการนำเข้านวัตกรรมเทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านการผลิตใหม่ ๆ ที่จะมีอยู่มากมายในงาน”

จุดเด่นสำคัญของงานครั้งนี้นอกจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ กระบวนการในการแปรรูปแป้งจากโรงสีธัญพืช และวัตถุดิบในการผลิต กระบวนการเก็บรักษา และระบบขนส่ง ระบบเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการแปรรูป และรีไซเคิลชีวมวล เพื่อนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานทางเลือก

รวมถึงนวัตกรรมใหม่ สำหรับโครงการเชื้อเพลิงอัดเม็ด (Biomass Pelleting) ที่ผลิตจากขยะอินทรีย์ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกในขณะนี้เพื่อลดต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงในตลาดอาหารอินทรีย์ที่กำลังจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีระบบ และอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรม เพื่อควบคุม ตรวจสอบ และรักษามาตรฐานความปลอดภัย และการระเบิดฝุ่นผง ขณะเดียวกันยังมีกิจกรรมการสัมมาในหัวข้อที่น่าสนใจจากหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ อาทิเช่น กรมปศุสัตว์  องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร  สมาคมโรงสีข้าวแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์แห่งประเทศไทย

พร้อมกันนี้ยังมีการประชุมครั้งสำคัญเกี่ยวกับเชื้อเพลิงอัดเม็ดและเทคโนโลยีบนข้อเท็จจริงที่ท้าทายว่าในทศวรรษหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจะมีการใช้พลังงานชีวมวลอย่างก้าวกระโดด โดยคาดการณ์ว่าอาจสูงถึง 500% และเชื้อเพลิงอัดเม็ดจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับพลังงานอนาคต ที่นอกจากจะใช้ภายในครัวเรือนแล้ว ยังสามารถใช้ในโรงไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมหรือพัฒนาให้ใช้ได้ในพื้นที่เขตเทศบาล หรือสำนักงานปกครองส่วนท้องถิ่นได้อีกด้วย

“นอกจากนี้ ภายในงาน VICTAM ASIA 2012 ยังมีการจัดงาน Feed Ingredients & Additives Asia Pacific 2012 (FIAAP ASIA) งานแสดงส่วนผสมของอาหารสัตว์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และดีต่อสุขภาพ รวมทั้งสารเติมแต่งอาหารสัตว์ และสูตรอาหารสัตว์ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์ล่าสุดในการกำหนดสูตรอาหารที่มีความปลอดภัย ยั่งยืนและสร้างกำไร สำหรับหรับภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคอีกด้วย และสำหรับงาน GRAPAS ASIA 2012 ซึ่งจัดขึ้นภายในงานครั้งนี้ จะเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการแปรรูปต่าง ๆ ตั้งแต่กระบวนการการสีข้าว โม่แป้ง

รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตบะหมี่ การแปรรูปธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารเช้า และของขบเคี้ยวที่มาจากธัญพืชประเภทข้าว ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายสำคัญของโลก แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะประสบกับภาวะวิกฤติอุทกภัยครั้งร้ายแรง ที่สร้างความเสียหายกินวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ถึง 58 จังหวัด โดยธนาคารโลกได้ประเมินความเสียหายว่าจะมีมูลค่าถึง 6.6 แสนล้านบาท และด้านความสูญเสียมีมูลค่าอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท รวมเป็น 1.4 ล้านล้านบาท หรือส่งผลกระทบต่อจีดีพีลดลงถึง 1.2%

ทำให้ในปี 2554 คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 2.4% ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์นั้น ตนยังมองว่าประเทศไทยมีความแข็งแกร่งในภาคการผลิตเพื่อการส่งออก เพราะมความได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการการผลิตและทักษะแรงงาน จึงเชื่อว่าไทยจะยังคงเป็นประเทศผู้ผลิตที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ต่อไป” มร.แฮงก์ แวน เดอ บัน กล่าว