เนื้อหาวันที่ : 2012-02-01 14:07:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2070 views

คลัง-แบงค์ชาติไร้ข้อสรุปเก็บค่าต๋งแบงค์

นักวิเคราะห์ คาดธปท.อาจจะเก็บค่าธรรมเนียมจากแบงค์เพิ่มเติมที่ 0.5-0.6% ใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ

สศค. ระบุ คลังและธปท. ยังไม่มีข้อสรุปในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากแบงค์เพื่อชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ด้านนักวิเคราะห์ คาดอาจจะเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมที่ 0.5-0.6%

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไม่มีข้อสรุปในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์เพื่อชำระหนี้กองทุนฟื้นฟู แต่ยืนยันจะไม่ทบธนาคาร ผู้ฝากเงิน ด้านนักวิเคราะห์ คาดอาจจะเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมที่ 0.5-0.6%

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมนำส่งเพื่อชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่าจะเรียกเก็บในอัตราที่ไม่กระทบต่อธนาคาร ทั้งผู้ฝากเงิน กู้เงิน และผู้ถือหุ้นธนาคาร เนื่องจากจะเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ธนาคารนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ปีละร้อยละ 0.4 อยู่แล้ว

ทั้งนี้ ธนาคารยังต้องนำส่งเงินไปที่ สคฝ. บางส่วน แต่ทางรัฐบาลจะลดเงินในส่วนที่นำส่งนี้ลง แต่ยังไม่เปิดเผยว่าเมื่อรวม 2 ส่วนนี้แล้วจะสูงกว่าร้อยละ 0.4 โดยแนวทางที่จะสรุปออกมานั้นต้องไม่เป็นภาระกับธนาคารพาณิชย์จนส่งผลกระทบกับผู้ฝากเงินมากนัก

สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) มีจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ยไปแล้วมากถึง 6.7 แสนล้านบาท รัฐบาลจึงได้มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาหนี้ FIDF อย่างยั่งยืน

โดยการปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งพิจารณาแหล่งเงินที่จะใช้ในการชำระหนี้ 3 แหล่ง ได้แก่ 1) ร้อยละ 90 จากกำไรสุทธิของ ธปท. 2) ผลประโยชน์จากบัญชีเงินตรา 3) สถาบันคุ้มครองเงินฝากเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 0.4 ของฐานเงินฝาก

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ได้มีการประเมินว่า แนวโน้มที่เป็นไปได้มากที่สุดที่น่าจะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอยู่ที่ร้อยละ 0.5-0.6 (จากปัจจุบันที่เท่ากับร้อยละ 0.4) ซึ่งจะทำให้ FIDF มีรายได้เพิ่มเติมจากการปรับเพิ่มดังกล่าวในระดับ 7,200-14,500 ล้านบาท แต่ยังขาดรายได้อยู่อีกระดับ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อใช้ในการชำระดอกเบี้ยทั้งหมด 6.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

คาดว่าหากมีการจัดเก็บเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 0.5-0.6 จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่ร้อยละ 4.4-8.8 ทั้งนี้ ล่าสุดผู้ว่าการธปท. คาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ FIDF ดังกล่าว โดยคาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลา 25 ปี