เนื้อหาวันที่ : 2012-01-31 10:20:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2189 views

จิตตก เสี่ยงมะเร็งถามหา

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มมะเร็งระบบเลือด พบบ่อยที่สุดในบรรดาโรคมะเร็งระบบเลือดทั้งหมด

          มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มมะเร็งระบบเลือด พบบ่อยที่สุดในบรรดาโรคมะเร็งระบบเลือดทั้งหมด แต่มีความรุนแรงน้อยกว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมียชนิดเฉียบพลัน 

 ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล
ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ

          ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์โลหิตวิทยากรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้มีการสำรวจอุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคนี้ไว้ชัดเจน แต่ข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราช ชี้ให้เห็นว่ามีคนไข้ใหม่โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอยู่ราว 200-300 รายต่อปี ประมาณการว่าทั้งประเทศน่าจะมีประมาณ 1000-1500 รายต่อปี

          สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองยังไม่ทราบแน่ชัด แต่แพทย์สันนิษฐานว่ามีความเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสบางชนิดเช่น Epstein-Barr virus ซึ่งได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

          ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ชนิดตามลักษณะของชิ้นเนื้อ ได้แก่ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Non-Hodgkin lymphoma (NHL) และชนิด Hodgkin disease (HD) ทั้งสองชนิดจะมีอาการคล้ายกัน คือ มีต่อมน้ำเหลืองโตเป็นหลัก แต่ NHL อาจมีก้อนโตที่อวัยวะอื่นๆ พบได้บ่อยกว่า เช่น ที่ลำไส้ ปอด สมอง เป็นต้น

          “มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรง (High Grade) ที่มีอาการปรากฏชัดเจน ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตเร็วร่วมกับมีอาการอื่นเช่น มีไข้ น้ำหนักลดและมีเหงื่อออกตอนกลางคืน ในขณะที่มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Low Grade) อาการของต่อมน้ำเหลืองจะโตขึ้นอย่างช้าๆ และอาจไม่มีอาการอื่นเลย

          สำหรับในประเทศไทยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบส่วนใหญ่จะเป็นชนิด NHL ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นชนิดย่อยๆ อีกหลายชนิด ทั้งนี้อาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คืออาการที่เกิดขึ้นจากต่อมน้ำเหลืองโต สามารถเห็นและคลำได้ชัดเจน

โดยตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ และขาหนีบ ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นกับต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ภายในร่างกาย เช่น ช่องทรวงอก ช่องท้อง ความรุนแรงของโรคมีความแตกต่างกัน โดยต่อมน้ำเหลืองที่เป็นมะเร็งจะโตเร็วมาก อาจแตกเป็นแผลและมีเลือดออกได้ และหากไม่ได้รับการรักษาแต่ต้น มะเร็งอาจแพร่กระจายไปสู่ระบบต่างๆ ของร่างกาย และมีผลทำให้การทำงานของร่างกายล้มเหลวถึงแก่ชีวิต

          นอกจากนี้ยังมีอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจงเกิดขึ้น เช่น มีไข้ น้ำหนักลด และมีเหงื่อออกตอนกลางคืน ซึ่งการวินิจฉัยโรคที่แน่นอนอาศัยพยาธิสภาพของชิ้นเนื้อ การแบ่งระยะของโรคทำได้โดยดูว่ามีต่อมน้ำเหลืองโตที่ใดบ้าง การแบ่งระยะของโรคช่วยในเรื่องการติดตามการรักษา โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองก็อาจแบ่งความรุนแรงของโรคออกเป็นระยะ เช่น ระยะที่ 1 คือพบความผิดปกติที่ต่อมน้ำเหลืองแห่งเดียว ระยะที่ 2 พบความผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองเกิน 1 ตำแหน่ง ระยะที่ 3 ความผิดปกติเริ่มแพร่ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย และระยะสุดท้ายคือมะเร็งได้ลุกลายไปยังอวัยวะอื่นๆ หลายแห่ง

          การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะเริ่มจากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย จากนั้นอาจจะตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นๆ ได้แก่ การตัดชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลืองเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy), การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ในช่องท้องและช่องทรวงอก, การตรวจกระดูก (Bone scan) และ การตรวจ PET scan โดยผลการตรวจทั้งหมดจะนำมาประเมินระยะของโรค เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาต่อไป

          การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองโดยทั่วไปจะใช้ยาเคมีบำบัด ซึ่งมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรงจะตอบสนองต่อยาได้ดีกว่าชนิดค่อยเป็นค่อยไป ในปัจจุบันมีการใช้แอนตี้บอดี้ย์แมบเทอรา หรือริทูซิแมบ ไปทำลายเซลล์มะเร็ง

          นอกจากนี้ในกรณีผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้วอาการดีขึ้น แต่โรคกลับมาเป็นซ้ำภายหลังให้ยาเคมีบำบัดจนโรคสงบลงครั้งที่สองอาจรักษาด้วย วิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem cell transplantation) โดยให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูง ร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของตนเอง ทำให้ผู้ป่วยมีระยะเวลาที่โรคไม่ลุกลามได้นานขึ้น สำหรับวิธีการรักษาใหม่ๆ มีความพยายามในการใช้ยาแมบเทอราซึ่งเป็นแอนติบอดี้ย์จับกับสารกัมมันตรังสี เมื่อยานี้เข้าไปในร่างกายจะไปทำลายเซลล์มะเร็งได้โดยตรง

         คุณหมอย้ำว่า คนเรามีเซลล์ผิดปกติที่พร้อมจะกลายเป็นมะเร็งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยร่างกายมีกระบวนการในการจัดการเซลล์ที่ผิดปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดมีจิตตก อาการเครียด กลไกทางภูมิคุ้มที่มีอยู่จะลดลงจนทำให้เซลล์ที่ผิดปกติก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นก้อนมะเร็งในที่สุด

          ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันโรคมะเร็ง คือ พยายามปรับอารมณ์ไม่ให้เครียด อย่าวิตกกังวลจนเกินไป และหมั่นตรวจร่างกายสม่ำเสมอเป็นประจำ เพราะหากพบความผิดปกติแต่เนิ่นๆ การรักษาจะทำได้ดี แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้การรักษาอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

          สำหรับเป้าหมายในการรักษาโรคมะเร็งที่ดีที่สุดก็คือการรักษาให้หายขาด แต่ถ้ารักษาให้หายขาดไม่ได้ก็พยายามรักษาไม่ให้โรคลุกลามต่อไป

          ความเข้าใจผิดที่ว่าคนที่เป็นโรคมะเร็งควรงดอาหารประเภทโปรตีน เนื่องจากโปรตีนมีส่วนทำให้เซลล์มะเร็งให้โตนั้น คุณหมอยืนยันว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะร่างกายมีความจำเป็นต้องได้รับอาหารครบทั้ง 5 หมู่ อีกทั้งร่างกายจำเป็นต้องใช้โปรตีนคือในการซ่อมแซมความสึกหรอต่างๆ ของร่างกาย คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ถ้าเซลล์ปกติจะต้องขาดโปรตีนไปด้วย

          ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีความซับซ้อนและแบ่งเป็นหลายชนิด รวมทั้งมีอาการหลายลักษณะ ซึ่งต้องใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องแม่นยำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น และ Add Free Magazine