เนื้อหาวันที่ : 2012-01-30 09:30:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1811 views

จับตานโยบายเฟด วิกฤติหนี้ยุโรป กดดันดอลลาร์ผันผวนปี 55

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ของเฟด และวิกฤตหนี้ยูโร…ยังคงเป็นปัจจัยสร้างความผันผวนต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ปี 2555

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ของเฟด และวิกฤตหนี้ยูโร…ยังคงเป็นปัจจัยสร้างความผันผวนต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ปี 2555

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า 2 ประเด็นสำคัญของตลาดการเงินในช่วงนี้ คงจะหนีไม่พ้น การส่งสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ (ซึ่งอาจหมายความถึงมาตรการ QE 3) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) พร้อมๆ กับการสัญญาว่าจะคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ระดับใกล้ศูนย์นานกว่าเดิมจนถึงช่วงปลายปี 2557 กับสถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปที่ยืดเยื้อ และยังคงมีความคลุมเครือในหลายประเด็นที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่วิกฤตจะพัฒนาไปสู่สถานการณ์ที่ลุกลามรุนแรง หากกลไกการแก้ปัญหาไม่เพียงพอและล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์

          เฟดส่งสัญญาณอาจดำเนินมาตรการผ่อนทางการเงินรอบใหม่ หลังการประชุมนโยบายการเงินที่มีมติยืนอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ร้อยละ 0.0-0.25 จนถึงช่วงปลายปี 2557 ซึ่งนานกว่าที่เคยระบุไว้ในหลายรอบการประชุมก่อนหน้า นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดได้เปิดเผยในการแถลงข่าวว่า มาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ ซึ่งอาจหมายความถึง การซื้อหลักทรัพย์เพิ่มเติมผ่านมาตรการ QE 3 นั้น ยังคงเป็นทางเลือกของเฟด ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลง และ/หรืออัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE Price Index มีแนวโน้มฉีกตัวออกจากเป้าหมายระยะยาวที่ร้อยละ 2.0 ซึ่งเฟดได้ระบุไว้เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ของการประชุม FOMC

          วิกฤตหนี้ยูโรโซนยังยากที่จะหาข้อยุติ โดยหลายๆ ประเด็นที่ยังคงคั่งค้าง ทั้งในเรื่องรายละเอียดของการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ของกรีซกับเจ้าหนี้เอกชน การพิจารณารายละเอียดของมาตรการช่วยเหลือทางการเงินรอบ 2 สำหรับกรีซ ขนาดของกองทุนรักษาเสถียรภาพทางการเงินของยุโรปทั้ง EFSF และ ESM ตลอดจนบทบาทของธนาคารกลางยุโรปในการผลักดันเครื่องมือพิเศษเพื่อช่วยบรรเทาวิกฤต และท้ายที่สุดก็คือ การเยียวยาฐานะการคลังของสมาชิกยูโรโซนหลายประเทศ ซึ่งยากที่จะให้ผลสัมฤทธิ์อย่างสมบูรณ์ หากแนวโน้มเศรษฐกิจของแต่ละประเทศยังคงชะลอตัว/ถดถอยลง

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความเปราะบางทั้งในสหรัฐฯ และยูโรโซน ทำให้ 2 ประเด็นที่กล่าวข้างต้น ทั้งในเรื่องของสัญญาณการผ่อนคลายรอบใหม่ และการยืนดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และวิกฤตหนี้ยุโรปที่ยืดเยื้อเป็นปีที่ 3 กลายเป็นปัจจัยที่กดดันทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ และเงินยูโรในช่วงจังหวะเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งนั่นก็อาจหมายความถึง สภาวะที่ไม่ราบรื่นของตลาดเงิน-ตลาดทุน และความผันผวนของแนวโน้มสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียตามไปด้วย (แม้ว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเอเชียจะแข็งแกร่งกว่าโดยเปรียบเทียบก็ตาม)

          ทั้งนี้ ท่ามกลางปัจจัยที่สร้างความผันผวนดังกล่าวข้างต้น สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ได้ประเมินกรอบค่าเงินบาทในปี 2555 ไว้ที่ 29.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทอาจโน้มอ่อนค่าได้มากถึง 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในจังหวะที่นักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยุโรปที่พัฒนาไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายรุนแรง

ในขณะเดียวกัน เงินบาทก็มีโอกาสจะแข็งค่ากลับมาได้ไกลถึง 29.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ หากความกังวลต่อปัญหาหนี้ยุโรปลดระดับลง พร้อมๆ กับการปรากฎขึ้นของสัญญาณผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ของเฟด ที่น่าจะกระตุ้นให้กระแสความต้องการเสี่ยงกลับมา ท่ามกลางต้นทุนของการกู้ยืมเงินดอลลาร์ฯ ที่อยู่ในระดับต่ำ และสัญญาณเศรษฐกิจเอเชียที่น่าจะแข็งแกร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2555

          นอกจากความเสี่ยงของ 2 ภูมิภาคหลักของโลก (สหรัฐฯ และยุโรป) จะมีผลต่อทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังอาจมีผลเชื่อมโยงมาที่เศรษฐกิจไทย และการพิจารณาจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ในระยะข้างหน้า ก็อาจจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจโลก กับโจทย์ทางด้านเสถียรภาพราคา ที่น่าจะได้รับแรงหนุนจากทิศทางราคาพลังงานในประเทศหลังทยอยปรับโครงสร้าง และการเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่คงจะทยอยมีความชัดเจน และมีผลต่อเนื่องมาที่ระบบเศรษฐกิจต่อไปตามลำดับ