เนื้อหาวันที่ : 2012-01-25 14:08:03 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2307 views

นิด้าเชียร์ ธปท. ลดดอกเบี้ยฟื้นเศรษฐกิจ

MPA NIDA ชี้เศรษฐกิจไตรมาสแรกของปียังไม่เข้าที่ สถานการณ์หนี้ยุโรปยังไม่ชัดเจน แนะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากน้ำท่วม เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน

MPA NIDA ชี้เศรษฐกิจไตรมาสแรกของปียังไม่เข้าที่ สถานการณ์หนี้ยุโรปยังไม่ชัดเจน แนะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากน้ำท่วม เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน

ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แนะประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน ชี้เศรษฐกิจไตรมาสแรกของปียังไม่เข้าที่ และสถานการณ์หนี้ยุโรปยังไม่ชัดเจน ตลอดจนงบประมาณแผ่นดินเกิดความล่าช้า นโยบายการเงินจึงควรเข้ามามีบทบาท สนับสนุนช่วยเหลือด้านต้นทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ นำร่องการฟื้นฟูด้วยภาคเอกชน

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า เหตุการณ์หนี้สาธารณะของยูโรโซน ในช่วงไตรมาสแรกของปี ยังคงมีความผันผวนและไม่มีความชัดเจน ซึ่งจะยังคงเป็นเช่นนี้ไปถึงไตรมาสที่สองของปี ส่งผลให้ภาคการค้า การท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบ

การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้กลไกการขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงิน สำหรับการบูรณะค่อนข้างมาก ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกระทบไปทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคครัวเรือน ในเรื่องของการบูรณะที่อยู่อาศัย ภาคธุรกิจ SMEs ภาคการเกษตร และโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ที่กระบวนการผลิตต่างๆ ค่อนข้างได้รับความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล และเกิดผลกระทบอย่างมากต่อสายการผลิตไอทีของโลก

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ การดำเนินนโยบายการคลัง ด้วยการอัดฉีดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ เพียงมาตรการเดียวนั้น คงจะช่วยให้เศรษฐกิจเกิดการฟื้นตัวได้ช้า และเป็นภาระที่หนักเกินไปสำหรับรัฐบาล เพราะงบประมาณประจำปี 2555 นี้ รัฐบาลได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายอยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท โดยมีงบประมาณสำหรับแผนงานเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นแผนงานโดยตรงเพื่อการฟื้นฟูภัยพิบัติในครั้งนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่ความเสียหาย ตลอดจนงบประมาณปีนี้ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้เม็ดเงินเพื่อการฟื้นฟูดังกล่าว ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้

รศ.ดร.มนตรี ยังกล่าวต่อด้วยว่า ด้วยความล่าช้าของงบประมาณปีนี้ ทำให้กลไกการขับเคลื่อน ฟื้นฟูประเทศ และเศรษฐกิจของภาครัฐ ยังไม่สามารถทำงานได้เต็มรูปแบบ บทบาทของ วงล้ออื่นในระบบเศรษฐกิจ จึงควรทำงานแทน โดยเฉพาะการที่ภาคเอกชนควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ด้วยการเป็นกลไกหลักในการนำร่องฟื้นฟู เพราะธุรกิจภาคเอกชน และอุตสาหกรรมต่างๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งฟื้นตัว เพื่อให้กระบวนการผลิตเกิดการขับเคลื่อน

ซึ่งกระบวนการของการพึ่งพาภาคเอกชน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการขับเคลื่อนได้นั้น ธปท. น่าจะสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องของต้นทุน โดยการปรับลดระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ให้ระดับอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 3.00 เพื่อให้ภาระด้านต้นทุนลดต่ำลง และกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น 

“ถึงแม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2555 นี้ จะมีแรงหนุนจากกรอบนโยบายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ และมาตรการต่างๆ เพื่อการฟื้นฟูประเทศ จากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 จะส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าภายในประเทศ หรือระดับอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม

แต่ระดับอัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ ยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่เหมาะสม ซึ่งหากระดับราคาสินค้าหรือระดับอัตราเงินเฟ้อ เกิดความผันผวนขึ้น กนง. ก็สามารถดำเนินการประชุม นอกเหนือจากภาระการประชุมตามปกติที่กำหนดไว้ เพื่อดำเนินนโยบายการเงินในการกำกับระดับราคาสินค้าที่ผันผวนนั้นได้ตลอดเวลา” รศ.ดร.มนตรีกล่าว