เนื้อหาวันที่ : 2007-05-03 17:51:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1215 views

กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เล็งใช้พื้นที่เดิมโรงฟ้ากระบี่นำร่อง

กฟผ.มองพื้นที่โรงไฟฟ้ากระบี่เดิมขึ้นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,400 เมกะวัตต์ ลดกระแสต่อต้าน ขณะที่ต่างชาติแห่รุมจีบขายถ่านหินนำเข้า โดยอินโดนีเซียมีหวังมากสุด เพราะมีการศึกษามาก่อนหน้านี้ และเตรียมลงนามเอ็มโอยูจะซื้อจะขายภายในปีนี้ ส่วนจะซื้อจริงในปี 2552 หลังได้พื้นที่ก่อสร้างแน่นอนแล้ว

กฟผ.มองพื้นที่โรงไฟฟ้ากระบี่เดิมขึ้นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,400 เมกะวัตต์ ลดกระแสต่อต้าน ขณะที่ต่างชาติแห่รุมจีบขายถ่านหินนำเข้า โดยอินโดนีเซียมีหวังมากสุด เพราะมีการศึกษามาก่อนหน้านี้ และเตรียมลงนามเอ็มโอยูจะซื้อจะขายภายในปีนี้ ส่วนจะซื้อจริงในปี 2552 หลังได้พื้นที่ก่อสร้างแน่นอนแล้ว

.

นายพายัพ พงศ์พิโรดม รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้เห็นชอบในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี 2007 ให้กฟผ.ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังการผลิต 2,800 เมกะวัตต์หรือขนาด 700 เมกะวัตต์ จำนวน 4 โรง นั้น ขณะนี้กฟผ.อยู่ระหว่างการจัดหาสถานที่ก่อสร้างอยู่หลายพื้นที่ โดยพุ่งเป้าไปที่บริเวณชายทะเลสามารถรับเรือขนาดใหญ่ในการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีพื้นที่ใดบ้าง แต่คาดว่าจะใช้พื้นที่ไม่กี่แห่ง เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินควรที่จะอยู่บริเวณเดียวกันไม่จำเป็นต้องไปสร้างท่าเรือเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำลงมาอีก และผลกระทบจากการขนถ่านหินจะน้อย โดยโรงไฟฟ้าแห่งแรกจะเข้าระบบในปี 2557

.

แต่อย่างใดก็ตาม ในการนำเข้าถ่านหินคุณภาพดีจากต่างประเทศมาเป็นเชื้อเพลิงนั้น ขณะนี้ได้รับการติดต่อจากผู้ผลิตถ่านหินเป็นจำนวนมากจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ออสเตรเรีย ที่ต้องการป้อนถ่านหินให้ระยะยาวกับกฟผ. โดยที่ผ่านมาได้มีการศึกษาร่วมกับทางบริษัทเอกชนในประเทศอินโดนีเซียแล้ว และมีความเป็นไปได้สูงสุดที่น่าจะเป็นการนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียก่อน โดยภายในปีคาดว่าจะสามารถเซ็นบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น(เอ็มโอยู) ในการแสงความจำนงที่จะซื้อจะขายถ่านหินกับทางบริษัทเอกชนของอินโดนีเซียได้ ขณะที่การนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเรียและเวียดนามจะอยู่ในอันดับรองลงมา

.

ทั้งนี้ ถ่านหินที่จะนำเข้ามานี้ จะเปิดประมูลให้บริษัทเอกชนหลายๆ รายยื่นข้อเสนอหรือการประมูล เพื่อให้ได้ราคาถ่านหินที่ถูกที่สุด รวมถึงคุณภาพและปริมาณที่มากพอที่จะป้อนได้ตลอดอายุโรงไฟฟ้าหรือ เป็นการทำสัญญาซื้อระยะยาวอย่างต่ำ 10 ปีขึ้นไป เพื่อให้ความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงมีน้อยที่สุด

.

ส่วนปริมาณที่จะรับซื้อนั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพถ่านหินจะเป็นอย่างไร หากมีค่าความร้อนสูงปริมาณการซื้อก็จะลดลงเมื่อเทียบกับคุณภาพถ่านหินที่มีค่าความร้อนต่ำ จะเห็นได้จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะเวลานี้เป็นลิกไนต์ที่มีค่าความร้อนต่ำอยู่ประมาณ 2,400- กิโลแคลอรีต่อตัน เมื่อนำมาผลิตไฟฟ้าขนาด 300 เมกะวัตต์ จะต้องใช้ถึง 2 ล้านตันต่อปี แต่หากเป็นถ่านหินคุณภาพดีที่มีค่าความร้อนอยู่ที่ประมาณ 4,000 กิโลแคลอรีต่อตัน จะใช้ถ่านหินประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี ในการผลิตไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์

.

นายพายัพ กล่าวอีกว่า สำหรับการจะเซ็นสัญญานำเข้าถ่านหินกับอินโดนีเซียนั้น หลังจากได้เซ็นเอ็มโอยูจะซื้อจะขายถ่านหินกันในปีนี้แล้ว ภายในปี 2552 กฟผ.จะต้องบอกยืนยันการนาเข้าถ่านหินกับทางอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการและเซ็นสัญญาซื้อขาย เพื่อที่ทางอินโดนีเซียจะได้ไปจัดเตรียมเครื่องจักรในการขุดถ่านหินป้อนให้กับกฟผ.ต่อไป ซึ่งการจะเซ็นสัญญาซื้อถ่านหินได้นั้น กฟผ.จะต้องทราบสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าและแน่ใจว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเกิดขึ้นได้ เพราะไม่เช่นนั้นหากเซ็นสัญญาไปแล้ว และโรงไฟฟ้าไม่สามารถเกิดได้ กฟผ.จะได้รับความเสียหายในค่าปรับที่เกิดขึ้น

.

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า สำหรับสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ขณะนี้มีพื้นที่เดิมของโรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งแต่เดิมมีการใช้ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงและเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตา ขนาด 300 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันได้หยุดการผลิตไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสูง หากปรับปรุงโรงไฟฟ้าหรือทำการรื้อทิ้ง และทำการลอกร่องน้ำให้มีความลึกขึ้น จะสามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,400 เมกะวัตต์ขึ้นได้ เพราะปัจจุบันมีท่าเรือที่เคยรับลิกไนต์เตรียมพร้อมไว้แล้ว ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องไปลงทุนก่อสร้างท่าเรือเพิ่มเติมอีก และทำให้ประหยัดเงินในการจัดซื้อที่ดิน และถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ และยังทำให้กระแสการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินลดน้อยลง โดยปัจจุบันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 35 ล้านบาท

.

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ