เนื้อหาวันที่ : 2012-01-23 14:38:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2007 views

ราคาน้ำมันดิบลดลงถ้วนหน้า ขณะที่เบนซินเพิ่มขึ้น 0.71 เหรียญต่อบาเรล

ปตท.เผยสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบทุกตลาดปรับตัวลดลง ขณะที่ราคาเฉลี่น้ำมันเบนซินยังเพิ่มขึ้น 0.71 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล

          ปตท.เผยสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบทุกตลาดปรับตัวลดลง ขณะที่ราคาเฉลี่น้ำมันเบนซินยังเพิ่มขึ้น 0.71 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล

          ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันเฉลี่ย สัปดาห์ที่ 16-20 ม.ค. 55 น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวลดลง 0.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 110.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 110.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 100.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ น้ำมันดีเซล ลดลง 1.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 128.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 0.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 124.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่

          ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
          - สหภาพแรงงานไนจีเรียระงับการประท้วงทั่วประเทศชั่วคราว หลังจากที่ประธานาธิบดี Mr. Goodluck Jonathan ประกาศควบคุมราคาน้ำมันเบนซินขายปลีกในประเทศ โดยลดลง 35% มาอยู่ที่ 97 Nigerian Nira (0.60 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 18 บาท) ต่อลิตร

          - โรงกลั่น St Croix (กำลังการกลั่น 350,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่หมู่เกาะ Virgin ของสหรัฐฯ ประกาศหยุดดำเนินการช่วงกลางเดือนก.พ. 55 เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาผลประกอบการขาดทุนรวม 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

          - กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธคำร้องขออนุญาตของบริษัท TransCanada Corp. ในการสร้างท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone XL ปริมาณขนส่ง 700,000 บาร์เรลต่อวัน ความยาว 2,673 กม. ซึ่งจะสามารถลำเลียงน้ำมันจากแคนาดามายังโรงกลั่นบริเวณ Gulf Coast ของสหรัฐฯ

          - อิรักจะสามารถส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 900,000 บาร์เรลต่อวัน หลังระบบส่งออกน้ำมันทางทะเล (Single Point Mooring) เริ่มดำเนินการในวันที่ 25 ม.ค. 55 โดยสามารถเพิ่มกำลังการส่งออกทางตอนใต้ได้จาก 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้อิรักมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตมาอยู่ที่ระดับ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับ 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปัจจุบัน

          - ประธานาธิบดี Venezuela นาย Hugo Chavez ประกาศแผนเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในปี 55 จากระดับ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

          ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
          - ประธานสหภาพยุโรปเสนอให้ประเทศสมาชิกเริ่มใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านโดยห้ามนำเข้าน้ำมันดิบเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 55 เป็นต้นไป

          - กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ม.ค. 55 อยู่ที่ 352,000 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 50,000 ราย ต่ำสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 50

          - National Association of Realtors (NAR) ของสหรัฐฯ รายงานยอดขายบ้านที่รอปิดการขายในเดือน ธ.ค. 54 เพิ่มขึ้น 5% จากเดือนก่อนหน้า

          - Norwegian Petroleum Directorate ของนอร์เวย์คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในปี 55 ลดลงจากปีก่อน 5.9% อยู่ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากหลุมน้ำมันในประเทศใช้ในการผลิตมานาน ทำให้อัตราการผลิตชะลอตัว

          แนวโน้มราคาน้ำมัน ในสัปดาห์นี้ (23-27 ม.ค. 55)
          ราคาน้ำมันมีความผันผวนปรับตัวขึ้นลงตามปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางจิตวิทยา เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัว โดย World Bank ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก (GDP) ปี 55 ลงจากคาดการณ์ครั้งก่อน 1.1% มาอยู่ที่ระดับ 2.5% (คาดการณ์ครั้งก่อน 3.6%) และ สำนักพลังงานสากล (International Energy Agency: IEA) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตอุปสงค์น้ำมันโลกปี 55 ลงจากคาดการณ์ครั้งก่อน 200,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมทั้งปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของกลุ่มยูโรโซน

อย่างไรก็ตามความตึงเครียดระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตก ยังคุกคามการผลิตและการขนส่งน้ำมันดิบจากอ่าวเปอร์เซีย และ IMF ได้ประกาศให้สมาชิกในสหภาพยุโรปจ่ายเงินเข้ากองทุน ESFS เป็นจำนวน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 106 - 113 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 94 - 110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ ทั้งนี้ ควรติดตาม ทั้งนี้หากสหภาพยุโรปประกาศเลื่อนการคว่ำบาตรอิหร่านออกไปหลังวันที่ 1 ก.ค. 55 สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์และข้อตกลงเบื้องต้นอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลง ขณะที่เสถียรภาพทางการเมืองของไนจีเรียเปราะบาง จากเหตุระเบิดโดยกลุ่มมุสลิม Boko Haram ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 166 คน