เนื้อหาวันที่ : 2012-01-13 15:43:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2222 views

พาราเซตามอล ยาสามัญธรรมดา(ที่ไม่ธรรมดา)

มีความจริงหลายประการที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับยาพาราเซตามอล ยาที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักและคิดว่ารู้วิธีใช้เป็นอย่างดี

ภก. ศรายุทธ ทัฬหิกรณ์

          ช่วงที่ฝนตกบ่อย อากาศเปลี่ยนแปลงวันเว้นวัน คงมีหลายๆ คนที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงเจ็บป่วยกันแน่นอน และเมื่อเจ็บป่วยเป็นไข้ ยาอันดับแรกที่คาดว่าคนไทยส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกันก็คือ ยาพาราเซตามอล (PARACETAMOL) นั่นเอง

          หลายๆ คนคงจะคิดว่าตัวเองทราบวิธีการรับประทานกันเป็นอย่างดีแล้วว่าหากเป็นผู้ใหญ่ต้องรับประทานครั้งละ 2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง

สำหรับเด็กก็ให้รับประทาน ตั้งแต่ครึ่งถึง 2 ช้อนชา (ซึ่งบางคนก็ไม่รู้หรอกครับว่าจริงๆ ต้องทานเท่าไหร่ก็อาศัยการกะประมาณเอาจากฉลากข้างขวดนี่แหละ) ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ยาพาราเซตามอลนี้มีความจริงที่คุณยังไม่รู้กันอีกหลายประการซึ่ง ในฐานะของเภสัชกรนั้นคงจะปล่อยไปไม่ได้ ดังนั้นจึงขออนุญาตท่านผู้อ่านมาชี้แจงแถลงไขเรื่องวิธีการใช้และเก็บรักษาที่ถูกต้องดังต่อไปนี้ครับ

          ข้อเท็จจริงประการที่ 1
          การรับประทานยาพาราเซตามอลนั้นควรรับประทานตามขนาดน้ำหนักตัวครับซึ่งถ้าคนที่ตัวใหญ่น้ำหนักตัวมากก็ไม่มีปัญหาอะไร ในขณะที่สาวๆบางคนสมัยนี้ ตัวเล็กเสียเหลือเกินครับ ยิ่งค่านิยมเรื่องความผอม หุ่นบางร่างน้อย กำลังมาแรงขนาดนี้แล้ว บางคนน้ำหนักตัวแค่ 40 กิโลกรัมเท่านั้น ถ้ารับประทานทีเดียว 2 เม็ดเลยอาจถือว่าได้รับยาเกินขนาดนะครับ

ดังนั้นวิธีการที่ถูกต้องที่สุดก็คือ เอาน้ำหนักตัวเราคูณด้วย 10 ก็จะได้เป็นขนาดมิลลิกรัมของยาพาราเซตามอลที่เราควรรับประทานในแต่ละครั้งแล้วครับ เช่น คุณเอ (นามสมมติ) เป็นหญิงผอมบางน้ำหนักตัว 42 กิโลกรัม ก็เอา 42 คูณด้วย 10 เท่ากับ 420 มิลลิกรัม ซึ่งยาพาราเซตามอลแบบมาตรฐานทั่วไปมีขนาด 500 มิลลิกรัม ต่อเม็ด ดังนั้น ขนาดยาพาราเซตามอลที่คุณเอ ควรรับประทานก็คือ หนึ่งเม็ดนั่นเอง

คุณทราบหรือไม่ว่าการรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดบ่อยๆ อาจส่งผลทำให้ตับทำงานหนัก เนื้อเยื่อตับบางส่วนถูกทำลาย ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตตับของคุณต้องมีปัญหาแน่นอนครับ  ดังนั้นหากไม่มั่นใจในการใช้ยาแม้ว่าจะเป็นเรื่องยาสามัญง่ายๆ ก็อย่าวางใจ พึงปรึกษาเภสัชกรใกล้บ้านท่านก่อนใช้ยาทุกครั้งนะครับ

          ข้อเท็จจริงประการที่ 2 
          การจัดเก็บยาอย่างถูกต้อง สำหรับข้อนี้ไม่ได้เจาะจงเฉพาะยาพาราเซตามอลเท่านั้นนะครับหากแต่ เลยไปถึงยาสามัญประจำบ้านชนิดอื่นๆ ด้วยนะครับ เพราะการจัดเก็บยาที่ถูกต้องนั้นมีหลักการง่ายๆ มากครับ คือ ต้องปลอดภัยและเป็นระเบียบ

          ในเรื่องของความปลอดภัยหมายถึง เราต้องจัดเก็บยาที่ใช้ภายนอกกับภายในออกจากกันอย่างชัดเจนเป็นสัดส่วนอย่าได้เอามาปนกันทีเดียว นอกจากนี้คำว่าปลอดภัยยังหมายถึงยาจะต้องปลอดภัยจาก แสงแดด ความร้อน และความชื้นด้วยนะครับ บางบ้านที่นิยมเอายาไปเก็บไว้ในห้องน้ำเหมือนหนังฝรั่งบางเรื่องเห็นทีจะบอกว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากอากาศบ้านเราไม่ได้แห้งเหมือนบ้านเขานะครับดังนั้น กลับตัวกลับใจหาที่เก็บใหม่จะดีกว่า

          เขียนมาเสียยาวยืดทีเดียวครับ ถ้าเขียนยาวกว่านี้เกรงว่าคุณผู้อ่านอาจจะเบื่อกันได้ เพราะฉะนั้นขอเก็บประเด็นที่เหลือไปพูดต่อในตอนที่ 2 แล้วกันครับ อย่างไรก็ตามหวังว่าทุกท่านคงดูแลสุขภาพตัวเองเป็นอย่างดีนะครับ อย่าลืมเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอนะครับ

          ด้วยความปรารถนาดีจาก มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา และ เว็บไซต์ yaandyou.net ครับ

เอกสารอ้างอิง
          1.  Armstrong, L., Goldman, P., Lacy, F., Lance, L.,2003, Drug Information Handbook, Lexi-Comp’s Canada

          2. นายแพทยสุรเกียรติ อาชานุภาพ, ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป,บริษัท พิมพ์ดี จำกัด, กรุงเทพมหานคร

          ค้นหาข้อมูลเรื่องยาและสุขภาพได้ที่  www.YaAndYou.net

          “ยากับคุณ” (www.YaAndYou.net) เป็นเว็บไซต์สำหรับสืบค้นและบริการข้อมูลความรู้ด้านยาและสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการใช้ยาและการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม ร่วมกันพัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ยากับคุณเป็นเว็บไซต์ที่มีฐานข้อมูลด้านยาที่ใหญ่ที่สุดของไทย เปิดให้บริการฟรี 24 ชั่วโมง สืบค้นไว อุ่นใจเมื่อใช้ยา

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก Add Free Magazine