เนื้อหาวันที่ : 2012-01-13 11:55:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2039 views

ม.อ.เตือนปชช.เตรียมรับมือลานินญ่า ส่งผลคลื่นลมแรงฝั่งอ่าวไทย

ม.อ. เตือนสภาวะอากาศโลกเข้าสู่ยุคลานินญ่า เกิดลมฝนและคลื่นลมรุนแรงชายฝั่งทะเลอ่าวไทย แนะหน่วยงาน และประชาชนเตรียมรับมือ

          ม.อ. เตือนสภาวะอากาศโลกเข้าสู่ยุคลานินญ่า เกิดลมฝนและคลื่นลมรุนแรงชายฝั่งทะเลอ่าวไทย แนะหน่วยงาน และประชาชนเตรียมรับมือ

          ม.อ. เตือนสภาวะอากาศโลกเข้าสู่ยุคลานินญ่า เกิดลมฝนและคลื่นลมค่อนข้างรุนแรงบริเวณชายฝั่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลกระทบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทวีความรุนแรงมากขึ้น แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาสภาพพื้นที่ คลอดกฎเกณฑ์การก่อสร้างที่อยู่อาศัยริมแนวชายฝั่ง ลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

          นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า สภาพอากาศโลกในปีนี้ได้เข้าสู่ปรากฏการณ์ “ลานินญ่า” ส่งผลให้เกิดลมฝนและคลื่นค่อนข้างแรงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ที่คลื่นลมบริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้ทวีความรุนแรงจนส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ปัตตานี สงขลาและนราธิวาส โดยบางพื้นที่มีการกัดเซาะชายฝั่งถึง 100-300 เมตรจากแนวเดิมที่เคยเป็นพื้นดิน ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายหาดได้รับความเสียหายจากปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง

          นอกจากนี้ ปัจจัยจากสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ที่ต้องการลดผลกระทบของการกัดเซาะคลื่น เช่น กำแพงหรือเขื่อนกันคลื่นยังเป็นปัญหาสำคัญ เพราะแม้ว่าในระยะสั้นจะสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ แต่ระยะยาวแล้ว สิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะไปขัดขวางการเคลื่อนตัวของทราย เมื่อเกิดคลื่นลมแรงจะทำให้ทรายริมชายฝั่งถูกดูดลงไปในทะเลมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่งเช่นเดียวกัน

          “เมื่อ 20 ปีก่อน โลกเราเผชิญกับยุคโลกร้อน (Global Warming) แต่ปัจจุบันโลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนนำไปสู่ Global change ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติ ทำให้การพยากรณ์อากาศจะทำนายล่วงหน้าได้ไม่กี่วัน ดังนั้นประชาชนต้องระมัดระวัง โดยเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาวะแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินจากกรณีปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง” นายศักดิ์อนันต์กล่าว

          อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า กล่าวว่า ภาครัฐควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลรายละเอียดของสภาพอากาศและสภาวะแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อใช้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้ได้รับทราบข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลตนเอง

นอกจากนี้ ต้องเร่งศึกษาสภาพภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่เพื่อออกกฎหมายกำหนดให้ประชาชนที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยริมชายฝั่งต้องมีระยะห่างที่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมการปลูกแนวพันธุ์ไม้ป่าชายฝั่ง เพื่อลดแรงของคลื่นลม เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทางทะเลให้ลดลง ซึ่งจะเป็นการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต