เนื้อหาวันที่ : 2012-01-05 13:58:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1714 views

กิตติรัตน์ เสนอครม.ออก พรก.กู้เงิน 6.5 แสนล้าน ชง ธปท. ปล่อยกู้แบงค์

สศค. เผยกิตติรัตน์ เตรียมเสนอออก พรก. กู้เงิน 6.5 แสนล้านฟื้นฟูประเทศ พร้อมเสนอ ครม.แก้ไข พ.ร.บ.ธปท. ให้ปล่อยกู้สถาบันการเงินวงเงินไม่เกิน 3 แสนล้านบาท

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย กิตติรัตน์ เตรียมเสนอออก พรก. กู้เงิน 6.5 แสนล้านฟื้นฟูประเทศ พร้อมเสนอ ครม.แก้ไข พ.ร.บ.ธปท. ให้ปล่อยกู้สถาบันการเงินวงเงินไม่เกิน 3 แสนล้านบาท

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอพระราชกำหนด (พรก.) ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พศ... ให้ที่ประชุมพิจารณา เพื่อให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ รับผิดชอบเกี่ยวกับชำระคืนเงินต้นกู้และดอกเบี้ย ดอกเบี้ยเงินกู้ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกันยังเสนอให้ครม.ออกพรก.แก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ธปท. สามารถปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนให้แก่สถาบันการเงิน ในวงเงินไม่เกิน 3 แสนล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บกับสถาบันการเงิน 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ต่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ออกพรก. อีก 2 ฉบับคือ พรก. กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และพรก.จัดตั้งกองทุนประกันภัยน้ำท่วมอีก 5 หมื่นล้านบาท

ด้านสศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายในการสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเน้นความสำคัญกับการลงทุนของภาครัฐ เพื่อเน้นโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ การที่ภาครัฐมีความจำเป็นในการฟื้นฟูประเทศ จำเป็นต้องมีการระดมทุนมากขึ้น จึงต้องมีการหาแหล่งเงินทุน นอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ 2555 ที่มีจำนวน 423.4 พันล้านบาท โดยการออกพรก. กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศ อาจจะส่งผลกระทบต่อภาระทางการคลัง

ในส่วนของยอดหนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 41.03 ของ GDP ในเดือนต.ค. 2554 ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทย แบ่งออกเป็น (1) หนี้ของรัฐบาทร้อยละ 44.09 (2) หนี้ของรัฐบาล (เพื่อ FIDF) ร้อยละ 27.23 (3) หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินร้อยละ 24.42 (4) หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) ร้อยละ 3.56 และ (5) หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ร้อยละ 0.70