เนื้อหาวันที่ : 2012-01-04 11:05:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2212 views

สนพ.เดินหน้าระบบสมาร์ทกริดเน้นใช้อุปกรณ์ในประเทศ

สนพ. จับมือ สจล. เร่งศึกษาการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟฟ้าอัจฉริยะ เตรียมผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติ

          สนพ. จับมือ สจล. เร่งศึกษาการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟฟ้าอัจฉริยะ เตรียมผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติ

          สำนักข่าวแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เดินหน้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ด้วยการใช้อุปกรณ์ภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้า

          นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ตามนโยบายในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

และมีแผนพัฒนาระบบกิจการไฟฟ้าของไทยให้เป็นระบบไฟฟ้าพลังงานสมบูรณ์แบบในอนาคต(สมาร์ท กริด) ด้วยการศึกษาผลกระทบทางด้านเสถียรภาพ และประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้า รวมทั้ง เป็นข้อมูลชี้วัดเบื้องต้นในการกำหนดนโยบายสมาร์ทกริดระดับชาติ และ เพื่อพัฒนาระบบมิเตอร์อัจฉริยะและโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการบริหารจัดการพลังงาน ระบบฐานข้อมูลเว็บไซต์ ระบบสื่อสารข้อมูล

มุ่งเน้นการใช้อุปกรณ์ภายในประเทศลดการนำเข้าและจัดซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากต่างประเทศ จึงให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ทำ “โครงการวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้าที่ชาญฉลาดเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการจัดการความต้องการไฟฟ้า”

โดยให้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการบริหารจัดการพลังงาน ระบบฐานข้อมูลเว็บไซต์ ระบบสื่อสารข้อมูล และสร้างระบบมิเตอร์อัจฉริยะ เพื่อให้การออกแบบมีความสอดคล้องกับการผลิตจริงในเชิงอุตสาหกรรม และทดลองติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะจำนวน 60 ตัวในแต่ละชนิดของการสื่อสารข้อมูล

รองรับการประยุกต์ในงานของผู้ใช้ไฟฟ้าได้หลายรูปแบบ ทดสอบระบบสมาร์ทมิเตอร์ที่สร้างขึ้น และวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทดลอง ซึ่ง สนพ.สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 24.9 ล้านบาท

          สำหรับโครงการจัดทำสมาร์ทกริด ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมโยงระบบจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

ซึ่งระบบดังกล่าวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของระบบการผลิตไฟฟ้า เปลี่ยนรูปแบบการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ รวมทั้ง การปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าตามผลการวิเคราะห์และประมวลผลของซอฟต์แวร์ ทำให้ผู้ใช้บริโภคเห็นประโยชน์ที่ได้รับและความสำคัญของการประหยัดพลังงานและใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น