เนื้อหาวันที่ : 2011-12-28 12:11:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1672 views

ครม.สั่งสภาพัฒน์-คลัง-ธปท. ศึกษาคืนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ

สศค. มองการแปลงหนี้ FIDF ทำให้หนี้สาธารณะคงค้างลดลงเหลือเพียง 29.86% ของจีดีพี แถมเหลืองบลงทุนอีกกว่า 6-7 หมื่นล้านบาท

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ และธปท. เร่งศึกษาการคืนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ตามข้อเสนอของ กยอ. ด้านสศค.มองการแปลงหนี้ FIDF ทำให้หนี้สาธารณะคงค้างลดลงเหลือเพียง 29.86% ของจีดีพี แถมเหลืองบลงทุนอีกกว่า 6-7 หมื่นล้านบาท

นายบัณฑูร สุภัควณิช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์  รามางกูร เป็นประธานเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่มีกว่า 1.14 ล้านล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการคืนหนี้

สศค. วิเคราะห์ว่า สถานะหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันมีความมั่นคง สะท้อนจากยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 54 มีจำนวน 4,336.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.03 ของ GDP ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP

โดยจำแนกเป็น (1) หนี้ของรัฐบาล 3,092.9 พันล้านบาท ได้แก่ หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 1,911.8 พันล้านบาท และหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 1,181.1 พันล้านบาท (2) หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,058.9 พันล้านบาท (3) หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 154.5 พันล้านบาท และ (4) หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 30.4 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาโอนภาระหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ ให้ ธปท. รับผิดชอบจะส่งผลให้หนี้สาธารณะคงค้างลดลงเหลือ 3,155.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 29.86 ของ GDP และทำให้รัฐบาลไม่ต้องมีภาระงบประมาณเพื่อใช้หนี้ให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ รวมทั้งมีงบเหลือสำหรับนำไปใช้ในโครงการลงทุนต่าง ๆ เพิ่มเติมอีกปีละ 6-7 หมื่นล้านบาท และยังสามารถกู้เงินเพื่อนำมาใช้ลงทุนเพิ่มเติมได้อีก

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 42-54 รัฐบาลได้มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสำหรับกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 656.7 พันล้านบาท และในปีงบประมาณ 55 สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณการชำระหนี้ในประเทศจำนวน 68.4 พันล้านบาท สำหรับดอกเบี้ยจ่ายของกองทุนฟื้นฟูฯ อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาถึงผลกระทบ ข้อดีและข้อจำกัดของการแปลงหนี้ FIDF ดังกล่าวต่อไป