เนื้อหาวันที่ : 2006-05-02 10:42:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1120 views

เศรษฐกิจไตรมาสแรกส่งออกดีแต่ลงทุนชะลอตัวแม้ว่าน้ำมันพุ่งไม่หยุด

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยเศรษฐกิจโดยรวมเดือนมีนาคม 2549 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน แม้ว่าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน แต่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยเศรษฐกิจโดยรวมเดือนมีนาคม 2549 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน แม้ว่าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง โดยด้านอุปสงค์ การส่งออกขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2548 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน แต่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง
 

เศรษฐกิจโดยรวมเดือนมีนาคม 2549 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน แม้ว่าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นและมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง โดยด้านอุปสงค์ เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวในอัตราต่ำ ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 

 

อย่างไรก็ตาม ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนด้านอุปทาน โดยรายได้เกษตรกรยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะปริมาณพืชผลที่ขยายตัวดีขึ้น ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงจากเดือนก่อน จากปัจจัยด้านการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นและปรับปรุงเครื่องจักร และการชะลอตัวของภาคการก่อสร้าง  สำหรับภาคบริการ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยรวมอยู่ในระดับใกล้เคียงเดือนก่อนและขยายตัวในเกณฑ์ดีจากระยะเดียวกันปีก่อน 

 

เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยด้านฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากการลดลงของราคาหมวดอาหารบริโภคในบ้าน เป็นสำคัญ  อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาผักและผลไม้

 

สำหรับไตรมาสแรก ปี 2549 เศรษฐกิจขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยด้านอุปสงค์ การส่งออกขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2548  ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน แต่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง ด้านอุปทาน ทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสูงกว่าไตรมาสก่อน  ส่วนภาคบริการปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ  สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งเสถียรภาพภายในและนอกประเทศ โดยเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นต่อจากไตรมาสก่อน

 
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม และไตรมาสแรก ปี 2549 มีดังนี้
 

1.  การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2549 ดัชนียังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่อัตราขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.2 ชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ หมวดยานยนต์ และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงขยายตัวดีตามอุปสงค์จากต่างประเทศ แต่หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลงเพราะการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นบางส่วน หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์ลดลง ตามอุปสงค์จากภาคก่อสร้างที่ชะลอลง  สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 79.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 72.4 ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีจำนวนวันทำการที่มากกว่า

สำหรับไตรมาสแรกปี 2549 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.8 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 7.2 ในไตรมาสก่อน โดยอุตสาหกรรมที่การส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 เร่งตัวขึ้น ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมในหมวดปิโตรเลียมที่กลับมาเปิดดำเนินการตามปกติ  ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่การส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง ตามการชะลอตัวลงของการผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตทั้งไตรมาสอยู่ที่ร้อยละ 75.2 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 72.3 ในปีก่อน

2.  ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขยายตัวสูงกว่าเดือนก่อนเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเพิ่มขึ้นมาก ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 5.3 ในเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์เป็นสำคัญ ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างหดตัวต่อเนื่อง จากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง

สำหรับดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนไตรมาสแรกของปี 2549 ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.2 เทียบกับร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อน โดยเพิ่มขึ้นตามการใช้ไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ทั้งไตรมาสปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลล์และปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยังลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอตัว จากร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการลงทุนในหมวดก่อสร้างหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรยังคงขยายตัวแต่มีอัตราที่ชะลอลง

3.  ภาคการคลังเดือนมีนาคม 2549 รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 122.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.4 ตามการนำส่งรายได้รัฐพาณิชย์เป็นสำคัญ ขณะที่รายได้ภาษีขยายตัวร้อยละ 4.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า แม้ภาษีจากฐานรายได้ขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนเนื่องจากภาษีเงินได้นิติบุคคลยังขยายตัวดี แต่ภาษีสรรพสามิตลดลงโดยเฉพาะในหมวดยาสูบและน้ำมัน ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มยังขยายตัวต่อเนื่อง  นอกจากนี้ ภาษีจากฐานการค้าระหว่างประเทศลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมบางประเภท สำหรับดุลเงินสดรัฐบาลในเดือนนี้ขาดดุล 2.3 พันล้านบาท

ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2549 รายได้จัดเก็บของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.5 และรัฐบาลขาดดุลเงินสด 28.8 พันล้านบาท

4.  ภาคต่างประเทศเดือนมีนาคม 2549  ดุลการค้าเกินดุล 187 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกมีมูลค่า 10,859 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ หมวดอิเล็กทรอนิกส์  ยานพาหนะและชิ้นส่วน  ผลิตภัณฑ์พลาสติกและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม  สำหรับการนำเข้ามีมูลค่า 10,672 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เพิ่มขึ้นทุกหมวด ยกเว้นหมวดวัตถุดิบ  ส่วนการนำเข้าเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านราคา 

ขณะที่ปริมาณนำเข้าน้ำมันลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน  ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน เกินดุล 298 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 690 ล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายผลประโยชน์การลงทุน เป็นสำคัญ  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในเดือนนี้เป็นช่วงปิดงวดบัญชีของบริษัทญี่ปุ่น  ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 485 ล้านดอลลาร์ สรอ.ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 666 ล้านดอลลาร์ สรอ.  ดุลการชำระเงินเกินดุล 764 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากที่เกินดุล 1,611 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือนก่อน  เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 อยู่ที่ระดับ 55.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิจำนวน 4.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

ไตรมาสแรกของปี 2549 ดุลการค้าขาดดุล 224 ล้านดอลลาร์ สรอ.  โดยการส่งออกมีมูลค่า 29,091 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9  การนำเข้ามีมูลค่า 29,316 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4  ส่วนหนึ่งเนื่องจากไตรมาสแรกปีก่อนมีการเร่งนำเข้าเหล็ก ทองคำ และน้ำมัน  ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุล 1,881 ล้านดอลลาร์ สรอ.  ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,656 ล้านดอลลาร์ สรอ. และดุลการชำระเงินเกินดุล 2,999 ล้านดอลลาร์ สรอ.  

5.  อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2549 อยู่ที่ร้อยละ 5.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 5.6 ในเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นตามราคาในหมวดอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ ส่วนราคาในหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อน ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ถึงแม้ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลจะปรับขึ้น 3 ครั้งในเดือนมีนาคมรวม 1.20 บาท  สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 2.6 เป็นผลจากราคาของหมวดอาหารบริโภคในบ้าน และสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาดที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน  ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นอีก 3 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาสินค้าเครื่องประกอบอาหารปรับสูงขึ้น ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.5 ชะลอลงจากร้อยละ 9.0 ในเดือนก่อน โดยเป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมที่ชะลอลงและราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเป็นสำคัญ

สำหรับไตรมาสแรกของปี 2549 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน และดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.7 2.6 และ 8.7 ตามลำดับ

6.  ภาวะการเงินเดือนมีนาคม 2549 เงินฝากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวถึงร้อยละ 11.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันระดมเงินฝาก โดยออกผลิตภัณฑ์พิเศษและเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้จูงใจมากขึ้น  สำหรับสินเชื่อภาคเอกชนของธนาคารพาณิชย์ (รวมการถือครองหลักทรัพย์ของภาคเอกชน) ขยายตัวร้อยละ  7.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อหักผลของการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่และบวกกลับผลของการตัดหนี้สูญสินเชื่อออกจากบัญชีและการโอนทางบัญชีกับ AMC แล้ว ขยายตัวร้อยละ 7.4  ซึ่งชะลอลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย เพราะเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่ลดลงเป็นสำคัญ

 ฐานเงินขยายตัวร้อยละ 10.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงิน M2 M2a และ M3 ขยายตัวในอัตราร้อยละ 11.9  8.4  และ 8.5  ตามลำดับ เร่งขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน  สำหรับปริมาณเงินตามความหมายกว้าง1(Broad Money) ขยายตัวร้อยละ 8.8 ตามการเร่งตัวของเงินฝากในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเฉพาะเงินฝากประเภทที่มีระยะเวลา

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ทั้งอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันและอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วันโน้มสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับสภาพคล่องที่ตึงตัวขึ้นบางช่วงในระบบธนาคารพาณิชย์จากการย้ายเงินฝากของลูกค้า

ไตรมาสที่ 1 ปี 2549  อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันและอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วันโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนประมาณร้อยละ 0.50 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 4.15 และ 4.16  ต่อปี ตามลำดับ ตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ๆ ละร้อยละ 0.25 ต่อปีในเดือนมกราคมและมีนาคม 2549

ในช่วงวันที่ 1-24  เมษายน 2549 อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันและอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วันปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนในขนาดที่ใกล้เคียงกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2549

7.  ค่าเงินบาทในเดือนมีนาคม 2549 เฉลี่ยอยู่ที่ 38.98 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ย 39.41 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในเดือนกุมภาพันธ์  สอดคล้องกับการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินในภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนจากต่างประเทศยังคงสนใจลงทุนในภูมิภาคนี้ ประกอบกับมีเงินทุนไหลเข้าเพื่อซื้อหุ้นกิจการในประเทศไทย

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2549 เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 39.32 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากค่าเฉลี่ย 41.04 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ (1) ความเชื่อมั่นในค่าเงินของดอลลาร์ สรอ. ที่ลดลง ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง และ (2) ปัจจัยเฉพาะของไทยเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการของบริษัทเอกชน

ระหว่างวันที่ 1-24 เมษายน 2549 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 38.12 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นอีกสอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาค และเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปีที่ระดับ 37.66 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในวันที่ 24 เมษายน 2549