เนื้อหาวันที่ : 2007-05-02 09:11:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2434 views

ก.พลังงานยกเลิกนโยบาย RPS ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

กระทรวงพลังงานยกเลิกนโยบายส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หรือ RPS ในปี 2554 หลังเกิดโรงไฟฟ้า SPP/VSPP ขึ้นเป็นจำนวนมากที่ใช้พลังงานทดแทนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบังคับใช้นโยบายนี้อีกต่อไป

กระทรวงพลังงานยกเลิกนโยบายส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (renewable portfolio standard) หรือ RPS ในปี 2554 หลังเกิด โรงไฟฟ้า SPP/VSPP ขึ้นเป็นจำนวนมากที่ใช้พลังงานทดแทนอยู่แล้ว จึงขอยกยอด RPS ไปรวมกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และรายเล็กมาก (VSPP) แทน แถมมีส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าให้ด้วย จึงไม่จำเป็นต้องบังคับใช้นโยบายนี้อีกต่อไป

.

นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน (renewable portfolio standard หรือ RPS) ที่ได้บังคับใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ ในสัดส่วนร้อยละ 5 ของกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ-น้ำมัน หรือถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ว่า จะเลิกบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมานี้

.

โดยที่ประชุม กพช.มีความเห็นให้นำนโยบาย RPS ไปรวมไว้ในการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หรือ SPP และรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก หรือ VSPP จะสามารถกระตุ้นให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้มากกว่า เนื่องจากนโยบายนี้บังคับใช้เพียงโรงไฟฟ้าใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น ที่สำคัญปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP และ VSPP มากขึ้น โดยมีการใช้มาตรการจูงใจด้วยการบวกเพิ่มราคารับซื้อค่าไฟลงไปด้วย ส่งผลให้เกิดโรงไฟฟ้าพลังชีวมวล ซึ่งใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

.

สำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ (SPP) ของ กฟผ.ที่จะเข้าระบบตั้งแต่ปี 2551-2553 นี้ จะมีจำนวน 4 โรง คือ โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม พระนครใต้ ชุดที่ 3 กำลังผลิต 746 เมกะวัตต์, โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม พระนครเหนือ ชุดที่ 1 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม บางปะกง ชุดที่ 5 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ทั้งหมดนี้มีผลทำให้ กฟผ.ต้องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามนโยบาย RPS จำนวน 140.7 เมกะวัตต์ ตามมติของ กพช.เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549

.

"ความจริงก็คือ การยก RPS ไปรวมกับ SPP-VSPP ที่สำคัญหลังจากที่ กระทรวงพลังงานออกมาตรการจูงใจด้านราคา หรือ adder ให้กับผู้ที่ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล-แสงอาทิตย์-พลังงานลม ฯลฯ ตอนนี้มีผู้เสนอโครงการเข้ามามาก มีอัตราขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ ฉะนั้นเราเชื่อว่าต่อจากนี้ไปไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบังคับใช้ RPS ในช่วงหลังปี 2554 เป็นต้นไปอีก" นายพรชัยกล่าว

.

นายพรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากนี้ยังได้ดำเนินการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ทั้งที่เป็นพลังงานหมุนเวียน และที่ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (cogeneration) ด้วย โดยตั้งเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากทั้ง VSPP และ SPP ทุกประเภทเชื้อเพลิงอีกจำนวน 1,700 เมกะวัตต์ จากเดิมที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ 2,384 เมกะวัตต์ ให้เพิ่มเป็น 4,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2555-2563

.

ในส่วนโรงไฟฟ้า SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน คาดว่าภายในเดือนเมษายน 2550 จะเปิดประมูลได้ โดยให้เงินสนับสนุนสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ยื่นขอรับส่วนเพิ่มราคาค่าไฟฟ้าในอัตราต่ำสุดก่อน และหากใช้ "ขยะ" เป็นเชื้อเพลิงกำหนดให้อัตราสูงสุดไม่เกิน 2.50 บาท/หน่วย แต่หากเป็นเชื้อเพลิงประเภทอื่น เช่น เศษไม้-แกลบ จะให้ส่วนเพิ่มไม่เกิน 30 สตางค์/หน่วย ตั้งเป้าหมายขายไฟฟ้าเข้าระบบอีก 350 เมกะวัตต์

.

ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) ในโครงการใหม่ล่าสุดอีก 18 โครงการรวมกำลังผลิตกว่า 90 เมกะวัตต์ จากผู้ผลิตไฟฟ้าหลายราย เช่น บริษัทอ่างทองกรีนพาวเวอร์ ซึ่งใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์, บริษัททีพีอุตสาหกรรมเหรียญชัย อำเภอทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ ใช้เศษวัสดุเหลือใช้ กำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ เป็นต้น

.

ทั้งนี้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามนโยบาย RPS ของ กฟผ.จำนวน 140.7 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็น กลุ่มที่ กฟผ.ดำเนินการเอง จำนวน 81.7 เมกะวัตต์, ผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาดเล็ก 78.7 เมกะวัตต์, ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์, พลังงานลม 2 เมกะวัตต์ และกลุ่มที่ กฟผ.ซื้อจากเอกชน จำนวน 59 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น การผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์, ผลิตจากพลังงานลม 2 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าชีวมวล 36 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าขยะ 20 เมกะวัตต์

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ