เนื้อหาวันที่ : 2007-05-02 08:26:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1008 views

เบรกจ่ายค่าเวนคืนรถไฟฟ้าสีม่วง หลังติดบ่วง พ.ร.บ.ร่วมทุน

รถไฟฟ้าสีม่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ยังมีปัญหา คมนาคมติดเบรกค่าเวนคืนเฟสแรก 1,500 ล้านบาท ต้องรอคณะรัฐมนตรีฟันธง ทั้งขั้นตอนเบิกจ่ายเงินงบประมาณและเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ.2535 ด้านผู้ว่าการ รฟม.ชี้ยิ่งช้าค่าเวนคืนยิ่งพุ่งจาก 5 พันล้าน เพิ่มเป็นหมื่นล้านบาทแล้ว

รถไฟฟ้าสีม่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ยังมีปัญหา คมนาคมติดเบรกค่าเวนคืนเฟสแรก 1,500 ล้านบาท "สรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม" ฟันธงต้องรอผลสรุปขอความชัดเจนจากคณะรัฐมนตรีก่อน ทั้งขั้นตอนเบิกจ่ายเงินงบประมาณและเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ.2535 ด้านผู้ว่าการ รฟม.ชี้ยิ่งช้าค่าเวนคืนยิ่งพุ่งจาก 5 พันล้าน เพิ่มเป็นหมื่นล้านบาทแล้ว "โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์" ยืนยันรัฐเปิดประมูลแน่ภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ ทั้งสายสีแดงและสีม่วง เผยอีก 2 สัปดาห์เตรียมหารือนายกรัฐมนตรีและขุนคลังร่วมหาทางออก

.

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ทำเรื่องมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อขอเบิกจ่ายงบประมาณวงเงิน 1,500 กว่าล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายค่าเวนคืนให้กับชาวบ้านที่ถูกเวนคืนตามแนวโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่นั้น

.

ล่าสุดทางกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ชะลอการเบิกจ่ายไว้ก่อน จนกว่าโครงการจะมีความชัดเจนว่าจะมีการก่อสร้างแน่ๆ รวมถึงความชัดเจนในเรื่องของการดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 ด้วย ถึงจะให้มีการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินได้ เนื่องจากเกรงว่าเมื่อเสียเงินเวนคืนไปแล้ว แต่โครงการไม่ได้ก่อสร้าง จะทำให้เสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์

.

"เมื่อนโยบายออกมาแบบนี้ มีแนวโน้มว่าจะทำให้การดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าจะล่าช้าไปหมด เพราะกว่าจะเวนคืนและส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างได้ ต้องใช้เวลานานเป็นปี"

.

นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อนำมาจ่ายค่าเวนคืนให้กับผู้ที่จะถูกเวนคืนของสายสีม่วงจะต้องรอให้ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติก่อนถึงจะจ่ายได้ ที่ผ่านมา ครม.อนุมัติแค่กรอบของแผนงานเท่านั้น ต้องให้โครงการมีความชัดเจน ทั้งเรื่องการศึกษา พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 รวมถึงแหล่งเงินทุนก่อน

.

"เห็นว่ายังไม่มีความเหมาะสมที่จะไปจ่ายก่อน ทั้งที่โครงการยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก ครม.ให้ดำเนินการเปิดประมูลก่อสร้าง แม้จะมีเงินอยู่แล้วก็ตาม ไม่อยากให้ลัดขั้นตอน ไม่ใช่เฉพาะสายสีม่วงสายเดียว รวมถึงรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่เหลือด้วย"

.

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ายังไม่มีการเวนคืนล่วงหน้าไว้ก่อนจะทำให้โครงการล่าช้าหรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า มันเป็นธรรมชาติของโครงการอยู่แล้ว อยู่ที่การบริหารจัดการมากกว่า

.

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า การทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯไม่เกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน ยังไงรัฐบาลจะต้องสร้าง การเวนคืนที่ดินก็ทำไป ไม่ควรจะนำมาผูกติดกัน ถ้ามองว่าโครงการไม่ควรจะทำ แล้วรัฐจะไปเจรจากับเอกชนทำไม กว่าขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯจะเสร็จ กว่าจะรู้ว่าโครงการจะสร้างแน่ๆ ถ้าใช้เวลานาน เมื่อมาเวนคืนจะรู้ได้ยังไงว่าราคาจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินไว้

.

"ตอนนี้เรากำลังทำเรื่องขอเบิกจ่ายค่าเวนคืนที่ดินซึ่งทางสำนักงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณมาแล้ว 1,500 กว่าล้านบาท ที่จะจ่ายในปี 2550 ตามแผนจะเริ่มจ่ายตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป"

.

นายประภัสร์กล่าวต่อว่า เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาบ้าง มีชาวบ้านบริเวณคลองบางไผ่มาร้องขอค่าเวนคืนเพิ่ม ซึ่ง รฟม.กำลังทบทวนราคาใหม่ โดยจะใช้หลักเกณฑ์การกำหนดราคาเดียวกับของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งจะต้องใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแคด้วย ซึ่งตอนนี้พระราชกฤษฎีกาเวนคืนได้ผ่านการพิจารณาของ ครม.แล้ว แต่ยังไม่ได้งบประมาณเวนคืนที่ดิน

.

แหล่งข่าวจาก รฟม. กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าค่าเวนคืนรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 5,000 กว่าล้านบาท เป็น 10,000 กว่าล้านบาท หลังจากที่มีการทบทวนค่าเวนคืนใหม่ ตามที่ชุมชนคลองบางไผ่ร้องขอมา โดย รฟม.ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งจะสูงกว่าราคาที่ รฟม.เคยประเมินไว้ จากเดิมประเมินไว้ 13,000-14,000 บาทต่อตารางวา ตามราคาของกรมทางหลวงชนบทเป็น 20,000 บาทต่อตารางวา แม้ว่าราคาประเมินจะเพิ่มแต่ผู้ถูกเวนคืนยังเท่าเดิม เป็นที่ดิน 1,053 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 626 หลัง "รฟม.จะใช้ราคาประเมินเปรียบเทียบกับราคาซื้อขายในตลาด แต่ของกรมทางหลวงชนบทจะใช้ราคาตลาดและบวกค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ที่ดินไปด้วย โดยเฉลี่ยประมาณ 10-20% แต่ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ จะไม่ตายตัวเสมอไป"

.

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าค่าเวนคืนจะออกมาอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคา แต่ดูความเป็นไปได้แล้วมีสูงที่ชาวบ้านจะได้ราคาชดเชยตามนี้ ซึ่ง รฟม.ก็พร้อมที่จะให้อยู่แล้ว ตามความพอใจของชาวบ้านที่ถูกเวนคืน เพราะในการเวนคืนที่ดินไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะตกลงกันได้

.

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งเปิดประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าภายในเดือนสิงหาคมนี้ จำนวน 2 สายทางก่อน คือสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงิน 13,000 ล้านบาท และสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ วงเงิน 24,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งภายใน 2 สัปดาห์นี้ตนจะไปหารือร่วมกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือเรื่องแหล่งเงินที่จะนำมาลงทุนก่อสร้าง

.

"กระทรวงคมนาคมบอกว่าพร้อมที่จะเปิดประมูลเดือนสิงหาฯนี้ 2 สาย แต่มีข้อคิดเห็นว่าถ้าจะทำได้ ต้องมีการพิจารณาความพร้อมด้านการเงิน ซึ่งผมรับไปเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้อง ใน 2 อาทิตย์นี้จะได้ข้อสรุป เรื่องการเงินผมเชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะความพร้อมการประมูลสำคัญกว่า"

.

นายโฆสิตกล่าวต่อว่า สำหรับแหล่งเงินลงทุนอยากให้ใช้เงินกู้ภายในประเทศมากๆ ตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งสายสีแดงจะใช้เงินกู้ในประเทศ ส่วนสายสีม่วงจะปรับเปลี่ยนมาใช้เงินกู้ในประเทศเหมือนกัน เนื่องจากขั้นตอนการเจรจากับธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) อาจจะใช้เวลานาน เพื่อให้โครงการเดินหน้าอย่างเต็มที่ ไม่อยากให้กระทรวงคมนาคมรอแหล่งเงินและทำให้โครงการล่าช้า ส่วนเงินกู้เจบิกยังมีสายที่เหลืออีกหลายสายที่จะขอกู้ได้ ไม่ใช่เฉพาะสีม่วงสีเดียว อย่างไรก็ตามที่บอกว่าจะประมูล 2 สาย ไม่ได้หมายความว่าสายอื่นๆ ที่เหลือหยุดชะงักนะ ยังดำเนินการต่อไป แต่อาจจะไม่ทันปีนี้เท่านั้นเอง

.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำหนังสือถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งผลตีความเกี่ยวกับข้อหารือเรื่องสถานะบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร ระบุสาระสำคัญว่า การดำเนินงานของกรุงเทพธนาคมไม่เข้าข่ายอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ซึ่งการตีความครั้งนี้มีผลให้ กทม.สามารถเดินหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ได้อย่างราบรื่น ได้แก่ โครงการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย (บีทีเอส) สถานีตากสิน ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร และโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษชิดเกาะกลาง (BRT)

.

นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.มีนโยบายเร่งรัดโครงการระบบขนส่งมวลชนทั้ง 2 โครงการ โดยเฉพาะโครงการรถ BRT มีผลการดำเนินการคืบหน้าไปมาก โดยออกแบบเดินรถเป็นโครงการนำร่อง เส้นทางช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 12 สถานี ล่าสุดอยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลจัดซื้อรถ BRT ที่จะนำมาวิ่งในเส้นทางภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เบื้องต้นกำหนดอัตราค่าโดยสารอยู่ระหว่าง 12-20 บาท ตั้งเป้าเปิดให้บริการได้ภายใน 9 เดือนนับจากนี้ หรือภายในไตรมาสแรกปี 2551

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ