เนื้อหาวันที่ : 2011-12-12 10:38:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3328 views

เห็นดีก็มีสุข

จิตใจ ความคิดที่ดีย่อมจะนำไปสู่การกระทำ และคำพูดที่ดี แม้สถานการณ์รอบกายดูจะมีอุปสรรคมากมาย แต่ก็จะกลายเป็นยาชูกำลัง

พระมหาประสิทธิ์

          ปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับการดำเนินชีวิตก็คือ “ทัศนคติ” ทางพระเรียกว่า “ทิฏฐิ” แปลง่ายๆ ว่า ”ความเห็น” ซึ่งส่วนใหญ่จะเข้าใจความหมายของทัศนคติได้ดีอยู่แล้ว เพราะกินความไปตั้งแต่ความรู้ ความคิดเห็น ความเข้าใจ และความคาดหวังในอนาคตต่อเรื่องนั้นๆ ซึ่งเมื่อแยกคำก็จะได้เป็น “ทัศนะ” แปลว่า “เห็น” และ “คติ” แปลว่า “ไป”  รวมความเป็น “เห็นอย่างไรก็จะเป็นไปอย่างนั้น”

          ในทางพุทธศาสนากับจิตวิทยาเห็นพ้องกันอย่างหนึ่งว่า ทัศนคติหรือทิฏฐิจะถูกสะท้อนออกมาทางพฤติกรรม  หรือการกระทำ ดังนั้นแล้วหากดูตามหนังสือแนะแนวเชิงจิตวิทยาหรือ How to ทั่วไป ประเด็นที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ทัศคติ หรือไม่ก็อธิบายรวมๆ ว่าเป็นความคิดเชิงบวก ซึ่งก็ไม่ต่างกันในแง่ของเป้าหมาย สิ่งนี้เป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เราเห็นว่า ทัศนคติสำคัญกับชีวิตของเรามากขนาดไหน

          ในหนังสือบางเล่มเนื้อหาเกือบจะทั้งหมดมีเป้าหมายเพียงอย่างเดียวคือ การกระตุ้นให้ผู้อ่านมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง หรือคิดบวกต่อเป้าหมาย โดยใช้ถ้อยคำที่กินใจมีความหมายลึกซึ้ง จึงทำให้จิตใจฮึกเหิมขึ้นมาทันที เมื่ออ่านจบก็แทบจะเห็นความสำเร็จอยู่รำไร

          พุทธศาสนานั้นให้ความสำคัญกับจิตใจและกระบวนการทางความคิดเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว เพราะคำสอนแทบจะทั้งหมดล้วนมุ่งไปที่การพัฒนาจิตใจ หรือเริ่มที่ทัศนคตินั่นเอง โดยใช้คำเรียกว่า “ทิฏฐิ” ซึ่งแม้จะแปลต่างบ้าง แต่ปลายทางดุจเดียวกัน 

          คำว่า “สัมมาทิฏฐิ” หรือความเห็นชอบ (ถูกต้อง) จึงเป็นข้อแรกของมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นทางสายกลางอันนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในชีวิต คือ นิพพาน ตามหลักอริยสัจจ์ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความดีงามทั้งมวล คุณธรรมอันใดที่ยังไม่เกิดก็จะค่อยๆ งอกเงยงดงามตามมา 

           จิตใจ ความคิดที่ดีย่อมจะนำไปสู่การกระทำ และคำพูดที่ดี แม้สถานการณ์รอบกายดูจะมีอุปสรรคมากมาย แต่ก็จะกลายเป็นยาชูกำลังหรือเป็นเครื่องประดับให้ความสำเร็จนั้นงดงามยิ่งขึ้น
 แต่ถ้าจิตใจ ความคิดไม่ดี อุปสรรคแม้น้อยนิดแต่จิตก็จะคิดปรุงแต่งให้มันใหญ่กว่าความเป็นจริง แล้วทุกสิ่งก็จะพังลงเพียงเพราะ “ใจไม่สู้ดี” 

          มีกรณีศึกษาจากบุคคลในยุคนี้ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ คุณตัน ภาสกรนที ต้นตำรับชาเขียวพร้อมดื่ม ทุกครั้งที่เขาให้สัมภาษณ์ในหลายรายการมักจะมีคำถามเกี่ยวกับมุมมองชีวิต หรือความคิดเห็นต่ออุปสรรคที่เคยเจอมา พบว่าชายคนนี้มองปัญหาเป็นบ่อเกิดของปัญญา เจอวิกฤติก็คิดว่ามันคือโอกาสสำหรับสิ่งใหม่ แสวงหาความสุขจากแง่มุมง่ายๆ

อย่างที่เขายกตัวอย่างคนขับมอเตอร์ไซค์ ซึ่งถ้ามองไปข้างหน้าก็จะเห็นรถเก๋ง รถเบนซ์ รถสปอร์ต เครื่องบิน สิ่งเหล่านี้มันเกินตัวไปเรื่อยๆ แบบไม่มีสิ้นสุด และทำให้ไม่พอใจในสิ่งที่ตนมี ความทุกข์ก็เกิด แต่ถ้ามองย้อนไปข้างหลัง เห็นคนขี่จักรยาน คนเดิน หรือแม้แต่คนที่เดินไม่ได้ ซึ่งทำให้เรารู้ว่าคนที่แย่กว่าเรายังมีอีกเยอะแยะ เมื่อเราเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนมีก็จะรู้สึกสุขขึ้นมาทันที  

          โดยธรรมชาติแล้วทุกสิ่งมีมิติของความดีซ่อนอยู่เสมอ แม้ในความทุกข์พระพุทธเจ้ายังให้ถือว่าเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ความจริงของชีวิต เรามีหน้าที่เรียนรู้ มองดูทุกข์ให้เข้าใจ แล้วก้าวต่อไปอย่างปล่อยวาง เพราะทุกอย่างเป็นเพียงกระแสที่ไหลผ่าน เราเก็บมันมาทับถมใจก็ทุกข์ไปเปล่าๆ แต่ถ้าเพียงรับเรียนรู้ห้เข้าใจ แล้วก็ปล่อยไป จิตใจก็จะว่างเบา   หมดภาระทุกข์ คงไว้แต่สาระสุข ก็จะพบความสนุกในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น  ดังนั้น เราควรเพลิดเพลินไปกับการเรียนรู้ดีกว่าหดหู่อยู่กับอดีตที่ระทมทุกข์ 

          เมื่อใดที่เจอปัญหา เราควรเป็นคนกำหนดความรู้สึกของตนเองให้ได้ว่า จะท้าทายด้วยการพัฒนาพยายามและทุ่มเท หรือท้อแท้แล้วยอมแพ้ไป เพราะอุปสรรคใดใดในโลกก็ไม่อาจขวางทางเราได้เท่าใจเราอ่อนแอเอง 
ฉะนั้น จงตั้งใจเรียนรู้ อดทนสู้ ถ้าล้มก็ลุกใหม่ ถึงไม่ชนะก็อย่ายอมแพ้ 

อยากจะฝากเทคนิคง่ายๆ ที่จะช่วยคลายความกังวลและเสริมแรงใจให้มีมุมมองใหม่ในการเผชิญปัญหา
          1. หาที่ยึดเหนี่ยวประจำใจ อาจเป็นพระเครื่อง สิ่งศรัทธาส่วนตัว ใสมัยโบราณ นักรบจะมีศูนย์รวมใจทำให้ฮึกเหิมยามจะสู้ และเป็นที่เยียวยาจิตใจยามพ่ายแพ้ ให้พร้อมจะกลับมาพยายามอีกครั้งได้อย่างรวดเร็ว หรือบางคนอาจมีผู้ที่ตนเลื่อมใสศรัทธาเป็นพิเศษ อาจเป็นพระ หรือผู้ใหญ่ใจดี ที่ให้ความเมตตาและมีคำแนะนำดีๆ อยู่เสมอ

          2. มีที่หลบภัยส่วนตัว คือที่ที่สามารถให้เวลากับตัวเองได้อยู่ใคร่ครวญใช้สมาธิคิดแก้ปัญหา หรือแม้แต่ร้องไห้ยามที่ไม่อยากให้ใครเห็นน้ำตา แต่อย่าอยู่นานเกินไปหากจิตใจไม่แข็งพอ เพราะอาจกลายเป็นมุมเหงาที่เศร้าอย่างเดียวดาย 

          3. มีแผ่นเพลงบรรเลงยามเหงา อาจเป็นเพลง สถานีวิทยุ หรือแม้แต่ภาพยนตร์ที่ดูแล้วประทับใจ ซึ่งบ่อยครั้งที่หลายคนบอกว่าได้กำลังใจจากเพลง ดีเจ และหนังสักเรื่อง อาจเป็นเพราะได้วางใจจากปัญหารับสุนทรียะจากเนื้อหาและดนตรีที่มีมุมดีๆ เพิ่มพลังใจ แต่ผู้เขียนชอบอยู่กับหนังสือมากกว่า หนังสือดีๆ สักเล่มบางครั้งอาจได้ช่องทางหรือแง่คิดเยี่ยมๆ อย่างไม่น่าเชื่อ 

          4. ฝึกจิตให้คิดดี เพราะไม่มีอะไรดีเท่าจิตใจที่ดีมีความมั่นคงอีกแล้ว ในการดำเนินชีวิต จิตใจที่เบิกบานผ่อนคลาย มีเมตตาและให้อภัย เปิดใจพร้อมรับทุกสถานการณ์ชีวิต แม้พลาดไปจากที่คิดก็สามารถพลิกให้เป็นความแปลกใหม่ ที่ให้อีกสีสันของชีวิตได้มีความหลากหลายทางประสบการณ์ได้

          ฟังดูอาจพื้นๆ แต่ในช่วงของชีวิตที่กำลังกล้ำกลืน อะไรยากๆ คงไม่อยากจะทำ จึงปูฐานวางหลักด้วยอะไรง่ายๆ เหมือนเตียงที่มั่นคง ซึ่งปูด้วยฟูกฟองน้ำ นอกจากนอนสบายแล้วยังมั่นใจอีกด้วย

          ช่วงนี้อยู่ในบรรยากาศของเทศกาลเข้าพรรษา จะไม่รณรงค์เลิกเหล้าหรอกเพราะมีคนทำแล้ว แต่ผู้เขียนขอรณรงค์ว่าช่วงเข้าพรรษาควรศึกษาธรรมะ จะได้เพิ่มพูนปัญญา เพราะแค่เลิกเหล้าความเศร้าอาจยังไม่หาย แต่ถ้ามือยังถือแก้วเหล้าและปากก็ยังคาบบุหรี่ ขอแค่ 5 นาทีในแต่ละวันหันมาเรียนรู้ธรรมะสักวันละข้อ หรือสวดมนต์วันละบท อ่านหนังสือธรรมะอาทิตย์ละเล่ม หรืออะไรก็ได้ที่ทำแล้วรู้สึกว่า ได้ยกระดับจิตวิญญาณขึ้นมาสักเล็กน้อย อย่าปล่อยให้เวลาถูกกลบกลืนไปกับวิถีชีวิตที่ดิ้นรนค้นหาแต่เงินตรา หรือสูญไปกับกิจกรรมที่หาสาระได้น้อย 

มองให้เห็นมุมดีและทำดีให้ชีวิตมีคุณค่า นี่แหละคือที่มาของคำว่า “ความสุข”
ใครเห็นดีด้วย...ช่วยบอกต่อๆ ไปที

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก Add Free Magazine