เนื้อหาวันที่ : 2011-12-07 13:43:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3319 views

ราชบุรีโฮลดิ้ง ลุยลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง 2

ราชบุรีโฮลดิ้ง ผนึก 2 ผู้ร่วมทุนเดินหน้าลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง 2 มูลค่ากว่า 6.1 พันล้านบาท ดันกำลังการผลิตพลังงานทดแทนเข้าเป้า 100 เมกะวัตต์

          ราชบุรีโฮลดิ้ง ผนึก 2 ผู้ร่วมทุนเดินหน้าลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง 2 มูลค่ากว่า 6.1 พันล้านบาท ดันกำลังการผลิตพลังงานทดแทนเข้าเป้า 100 เมกะวัตต์

          บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (“ราชบุรีโฮลดิ้ง”) ได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างผู้ถือหุ้น เพื่อเข้าลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง 2 ขนาดกำลังผลิต 103.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา โดยมีบริษัท เค.อาร์.ทู จำกัด เป็นผู้พัฒนาโครงการ ภายใต้สัญญาดังกล่าว ราชบุรีโฮลดิ้งจะเข้าถือหุ้นในบริษัท เค.อาร์.ทู จำกัด ร้อยละ 20 ร่วมกับ Aeolus Power Co., Ltd. และ Chubu Electric Power Korat, BV ถือหุ้นร้อยละ 60 และ 20 ตามลำดับ

โครงการห้วยบง 2 นับเป็นโครงการพลังงานลมแห่งที่ 3 หลังบริษัทฯ ประสบความสำเร็จร่วมทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมเขาค้อ และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง 3 รวมกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 72 เมกะวัตต์ และเป็นสัดส่วนกำลังผลิตที่มากที่สุดจากกำลังผลิตติดตั้งพลังงานทดแทนภายในประเทศของบริษัทฯ ทั้งหมด 100 เมกะวัตต์

          นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง 2 มีมูลค่าโครงการประมาณ 6,100 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะต้องใช้เงินส่วนทุนจำนวน 370 ล้านบาท จากเงินทุนหมุนเวียนเพื่อลงทุนในโครงการนี้

เพราะบริษัทฯ ยังมีสภาพคล่องสูง สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมห้วยบง 2 มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภท Non-Firm สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และยังได้รับเงินสนับสนุน (Adder) จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) จำนวน 3.50 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี

          "ตามแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทฯ เรายึดธุรกิจพลังงานทดแทนเป็นธุรกิจหลัก และตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาและสร้างกำลังผลิตภายในประเทศให้เติบโตให้ได้ 100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2559 การลงทุนครั้งนี้ไม่เพียงแสดงศักยภาพการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของบริษัทฯ เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ รวมทั้งยังเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศในภาพรวม เพราะจะช่วยภาครัฐลดการนำเข้าน้ำมันเตาซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลใช้ในการผลิตไฟฟ้าปีละ 40 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท และกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงเพิ่มความมั่นคงแก่ระบบไฟฟ้าของประเทศ อันเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อีกทั้งยังช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80,000 ตันต่อปี ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ " นายนพพล กล่าวปิดท้าย