เนื้อหาวันที่ : 2006-05-02 09:55:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1478 views

ก.อุตฯ สร้างโรงงานต้นแบบผลิตเอทานอลจากกากอ้อยทดแทนน้ำมัน

ญี่ปุ่น มอบเทคโนโลยีผลิตเอทานอลจากกากอ้อย ซึ่งเป็นของเหลือจากขบวนการหีบอ้อย ให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม สร้างโรงงานต้นแบบผลิตเอทานอลจาก กากอ้อยและกากน้ำตาล หวังเป็นทางเลือกใหม่ในการผลิตพลังงานจากชีวมวลทดแทนน้ำมันเบนซิน

.

ญี่ปุ่น มอบเทคโนโลยีผลิตเอทานอลจาก กากอ้อย ซึ่งเป็นของเหลือจากขบวนการหีบอ้อย ให้กับกระทรวงอุตสาหกรรม สร้างโรงงานต้นแบบผลิตเอทานอลจาก กากอ้อยและกากน้ำตาล เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการผลิตพลังงานจากชีวมวลทดแทนน้ำมันเบนซิน

.

ประเทศไทย คือ ผู้ส่งออกน้ำตาลทรายติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลกมานานหลายปี แต่กลับพบว่าโรงงานหีบอ้อยที่มีอยู่กว่า 50 โรงงานทั่วประเทศนั้น แต่กลับมีโรงงานหีบอ้อยที่สามารถนำกากน้ำตาล มาผลิตเป็นเอทานอล เพื่อใช้ผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ไม่ถึง 10 แห่ง  ขณะที่ในประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตอ้อยอันดับ 1 ของโลกกลับสามารถใช้อุตสาหกรรมอ้อยเป็นตัวสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ที่ที่สามารถใช้เอทานอล 100 เปอร์เซ็นต์เป็นเชื้อเพลิงได้แล้ว

.

หากจะวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่า การที่เจ้าของโรงงานน้ำตาล ยังให้ความสำคัญกับการนำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลค่อนข้างน้อยนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีที่ใช้กันในบ้านเราขณะนี้จะผลิตเอทานอลจาก กากน้ำตาล และ น้ำอ้อยสด ซึ่งเป็นของที่มีราคาอยู่แล้ว  ขณะที่ลำอ้อยที่ผ่านขบวนการ บีบ น้ำอ้อยออกไปแล้วที่เราเรียกว่า กากอ้อย  ที่มีปริมาณมากที่สุดนั้น กลับไม่สามารถนำมาผลิตเอทานอลได้

.

นี่จึงเป็นที่มาของ โครงการสาธิตการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลและกากอ้อยในโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย ที่ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นไปเมื่อปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

.

นางรัตนาภรณ์ จึงสงวนสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงที่มาของโครงการดังกล่าวว่า  เราพบว่าเทคโนโลยีของญี่ปุ่นตัวนี้ สามารถผลิตเอทานอลจากเศษไม้ กากชีวมวลของพืชชนิดต่าง  ๆ รวมถึงกากอ้อย แล้วประสบความสำเร็จ จึงอยากจะนำมาศึกษาความเป็นไปได้ หากจะใช้ผลิตเอทานอลจากกากอ้อยในเมืองไทย ทั้งในแง่ของเทคนิคและต้นทุน  เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับเจ้าของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ

.

ภายใต้โครงการนี้ สอน. ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) แห่งประเทศญี่ปุ่น ที่จะให้ความช่วยเหลือด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ทั้งหมดในลักษณะให้เปล่า ซึ่ง Mr. Takahiko Yamamoto ผู้อำนวยการองค์การ NEDO กล่าวว่า นอกจากเทคโนโลยีผลิตเอทานอลกำลังการผลิต 120,000 ลิตรต่อวันตัวนี้จะช่วยแก้ปัญหาด้านพลังงานได้แล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

.

โครงการนี้นอกจากมีเป้าหมายจะผลิตเอทานอลให้ได้ 3,600,000 ลิตรต่อปีแล้ว  การผลิตเอทานอลด้วยเทคโนโลยีนี้ยังสามารถใช้ทดแทนน้ำมันดิบได้ถึง 18,400 ตันต่อปี  ที่จะส่งผลในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก ได้ในปริมาณถึง 54,000 ตันต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้นอกจากจะมีผลโดยตรงในการลดปริมาณการบริโภคน้ำมันแล้ว ยังส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

.

อนึ่ง การติดตั้งและทดสอบเครื่องผลิตเอทานอลเหล่านี้  โรงงานน้ำตาลที่จะเป็นที่ตั้งของโครงการนี้นั้น ทาง สอน. และ NEDO ได้พิจารณาคัดเลือกโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศจำนวน 46 โรงงาน โดยคำนึงถึงปัจจัยสำคัญคือ ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพด้านวัตถุดิบ ความเหมาะสมของสถานที่ตั้ง การได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงงานเอทานอล รวมถึงความสามารถในการขยายผลและการสาธิตเทคโนโลยี ซึ่งได้เห็นชอบให้ บริษัท ไทยรุ่งเรืองพลังงานจำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.วังม่วง จ.สระบุรี เป็นที่ตั้งของโครงการ

.

นายดำริ สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน ซึ่งนับว่ามีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นอย่างมาก ในการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ควบคู่ไปกับการผลิตเอทานอลและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานทดแทนในประเทศได้มากยิ่งขึ้น

.

โดยพลังงานที่ได้เป็นผลมาจากการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น กากอ้อย และผลพลอยได้ของโรงงานน้ำตาลมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดมลภาวะทางอากาศและช่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยไทยประหยัดเงินตราต่างประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้า และจะส่งผลต่อการเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตกรชาวไร่อ้อย นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้กับผลผลิตหรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่น ๆ ต่อไปได้อีกด้วย