เนื้อหาวันที่ : 2011-11-22 10:42:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1727 views

กิตติรัตน์ โปรยยาหอมเศรษฐกิจปี 55 โต 7%

กิตติรัตน์ เผยเศรษฐกิจกิจปี 55 มีโอกาสเติบโตสูงมากอาจเท่าที่เจ้าสัวซีพีคาดการณ์ไว้ที่ 7% จากการเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังน้ำลด

           กิตติรัตน์ เผยเศรษฐกิจกิจปี 55 มีโอกาสเติบโตสูงมากอาจเท่าที่เจ้าสัวซีพีคาดการณ์ไว้ที่ 7% จากการเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังน้ำลด

           สำนักข่าวไทยรายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในปี 2555 จะมีโอกาสเติบโตได้สูงมาก โดยอาจสูงเท่าที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี กรุ๊ป ได้คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 7

           นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจในปี 2555 จะมีโอกาสเติบโตได้สูงมาก โดยอาจสูงเท่าที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี กรุ๊ป ได้คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 7 เนื่องจากจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมจะกลับมาทำการผลิตใหม่มีการจ้างแรงงานที่สูงขึ้นมาก จึงทำให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตสูงแน่

โดยรัฐบาลจะเร่งดำเนินการใน 2 เรื่องหลักเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังจากที่ถูกน้ำท่วม คือเรื่องการปรับสมดุลเศรษฐกิจให้ผู้มีรายได้น้อยมีฐานะที่ดีขึ้น จากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทั้งในเรื่องการเพิ่มค่าแรงรายวัน และการรับจำนำสินค้าเกษตร 2.เรื่องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมาก ซึ่งน่าจะช่วยทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจกลับมาเติบโตขึ้น

           “เชื่อว่าหลังจากน้ำลดแล้ว ความต้องการด้านแรงงานเข้ามาช่วยเหลือในการก่อสร้างและฟื้นฟูจะมีเยอะขึ้น รวมถึงการลงทุนต่างๆ ก็จะสามารถชดเชย ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่หายไปจากปีนี้ได้ และในช่วงปี 2555-2556 ก็มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้นมาก ขณะเดียวกันโครงการลงทุนที่ทำไป ก็จะทำให้มียอดหนี้ที่สูงตามไปด้วย แต่หากเปรียบเทียบเกี่ยวกับความคุ้มค่าในภาคธุรกิจก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้น แต่เชื่อว่าคงไม่มียอดหนี้สูงถึงร้อยละ 60 ของจีดีพีอย่างแน่นอน” นายกิตติรัตน์ กล่าว

          ส่วนการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์และบริหารจัดการระบบน้ำ (กยน.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นที่ปรึกษา ตนจะเสนอต่อที่ประชุมให้ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือ ไจก้า เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและวางแผนบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยระยะยาว

เนื่องจากเห็นว่าแผนที่ไจก้าศึกษามาไว้ มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนบริหารจัดการน้ำที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อปี 2543 อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่า กรรมการคนไหนจะเสนอใครมาเป็นที่ปรึกษาบ้าง แต่โดยส่วนตัวผมเห็นว่าไจก้ามีความเหมาะสมที่สุด และยืนยันว่า ที่เลือกไจก้านั้นไม่ได้มีเหตุผลในเรื่องของเงินกู้เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะไม่ว่าจะกู้จากไหนก็ตาม ไจก้าเขาก็ยินดีช่วยเราอยู่แล้ว

           นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนแผนป้องกันปัญหาระยะสั้น สิ่งที่จะมีความชัดเจนออกมาก็คือ การลงทุนโครงการ จะไม่เห็นภาพของการเอากระสอบทรายมาวางตามแนวแม่น้ำกว่า 10 กิโลเมตรเหมือนในช่วงที่เกิดปัญหา ซึ่งตนเข้าใจว่าผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำใน กยน. ก็จะมีการพิจารณาว่าจะมีการทำโครงการอะไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า โครงการที่ กยน. จะทำออกมา และส่งให้ กยอ. พิจารณานั้น ก็จะมีลักษณะเป็นแพกเก็จโครงการ ซึ่งจะเน้นเป็นโครงการหลักๆ ที่จะสอดรับกับโครงการของหน่วยงานราชการที่ได้รับงบประมาณจัดการเรื่องน้ำทำอยู่ ส่วนจะมีเรื่องของการทำเขื่อนปากแม่น้ำ ฟลัดเวย์ แก้มลิง ฝายเก็บน้ำ ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการจะเป็นผู้คิดออกมา เมื่อได้โครงการที่ชัดเจนแล้วก็จะรู้ว่าใช้เงินเท่าไร และจะเป็นหน้าที่ของนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่ต้องใช้จ่ายเงินให้คุ้มค่า