เนื้อหาวันที่ : 2011-11-18 13:40:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 927 views

ดัชนีอุตฯ ต.ค. 54 จมน้ำต่ำสุดรอบ 26 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมวูบต่ำสุดในรอบ 26 เดือน อยู่ที่ 89.0 ผู้ประกอบการโอด วิกฤตน้ำท่วมทำเศรษฐกิจไทยย่อยยับ จี้รัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่นดึงยอดลงทุน

          ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมวูบต่ำสุดในรอบ 26 เดือน อยู่ที่ 89.0 ผู้ประกอบการโอด วิกฤตน้ำท่วมทำเศรษฐกิจไทยย่อยยับ จี้รัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่นดึงยอดลงทุน

          นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนตุลาคม จำนวน 732 ราย ครอบคลุม 40 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 89.0 ปรับลดลงจากระดับ 90.7 จากเดือนกันยายน โดยเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 26 เดือน

โดยค่าดัชนีที่ปรับลดลงเกิดจากองค์ประกอบของดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ จากวิกฤตน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เสียหายรุนแรง นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ต้องจมน้ำในเวลาอันรวดเร็ว แม้จะมีการป้องกันเป็นอย่างดีก็ตาม

ทั้งนี้ ยังส่งผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่ต้องหยุดการผลิต เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต กระทบต่อการจ้างงาน และรายได้ของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งสะท้อนถึงการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัวลง

ขณะเดียวกัน น้ำที่ท่วมขังบนถนนหลักหลายสายส่งผลให้การขนส่งสินค้าเป็นไปด้วยความล่าช้า หรือไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในช่วงน้ำท่วม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลในเรื่องการฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่เสียหายรวมถึงการขาดแคลนวัตถุดิบ และมีแนวโน้มราคาสูงขึ้นหลังจากภาวะน้ำท่วมคลี่คลาย สำหรับค่าดัชนีที่ปรับตัวลดลง และอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 นั้น แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี

          สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.3 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 94.0 จากเดือนกันยายน ด้านองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยผู้ประกอบการคาดว่า ภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติ จะอยูในช่วงการฟื้นฟูบูรณะของภาคการผลิต และครัวเรือน ทำให้มีความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น

          ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนตุลาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อยู่ที่ 83.2 และ 87.3 ปรับลดลงจากระดับ 86.4 และ 98.5 จากเดือนกันยายน ในขณะที่ค่าดัชนีฯ ของอุตสาหกรรมขนาดกลางอยู่ที่ 93.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 86.6 จากเดือนกันยายน

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อยู่ที่ 102.4, 101.4 และ 100.1 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 94.9, 90.2 และ 97.7 จากเดือนกันยายน โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 83.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.4 จากเดือนกันยายน

โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง (แผ่นหนังสำเร็จรูปและหนังฟอกมียอดขายในประเทศและต่างประเทศลดลง), อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จึงทำให้สินค้าขาดตลาด, แรงงานส่วนใหญ่ประสบปัญหาน้ำท่วมจึงไม่สามารถผลิตได้),

อุตสาหกรรมพลาสติก (ขาดแคลนแรงงานประเภทฝีมือและทั่วไป, ยอดคำสั่งซื้อภาชนะบนโต๊ะอาหารที่ทำจากพลาสติกจากประเทศมาเลเซียและฮ่องกงลดลง) และหัตถอุตสาหกรรม (สินค้าประเภท เครื่องปั้นดินเผา ดอกไม้ประดิษฐ์ในประเทศลดลง เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง) ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 94.9 จากเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับเกิน 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในอนาคตในระดับที่ดี

          อุตสาหกรรมขนาดกลาง มีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 93.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.6 จากเดือนกันยายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่ม ได้แก่ ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ยอดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ เช่น ด้าย ไหม จากประเทศอเมริกาและออสเตรเลียเพิ่มขึ้น, ยอดขายผ้าทอ ผ้าฝ้ายในประเทศเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมรองเท้า (ยอดขายรองเท้าบูทในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงนี้เกิดอุทกภัยทำให้ความต้องการรองเท้าบูทเพิ่มขึ้น, ยอดขายรองเท้าแตะและรองเท้ายางในประเทศเพิ่มขึ้น),

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (เครื่องประดับประเภท พลอย เงิน มียอดการส่งออกไปประเทศเดนมาร์ก ออสเตรเลีย ตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น, ยอดขายเครื่องประดับประเภทเงิน สแตนเลสในประเทศเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมแก้วและกระจก (ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแก้ว เช่น จาน ชาม มียอดส่งออกไปประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมอาหาร (ยอดขายอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ข้าวสารและน้ำดื่มมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการกักตุนเพื่อเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย,

ยอดส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่แข็ง ฯลฯ จากประเทศออสเตรเลีย อเมริกา แคนาดาและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (ยอดขายน้ำมันปาล์มในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารมีการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในภาวะน้ำท่วม) อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 90.2 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 87.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 98.5 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก (สินค้าประเภทโครงเหล็กแปรรูป และแผ่นเหล็กมียอดขายในประเทศลดลง), อุตสาหกรรมยานยนต์ (ยอดขาย และยอดการส่งออกลดลง รวมถึงเกิดปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และแรงงาน เป็นผลจากสถานการณ์น้ำท่วม), อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (เนื่องจากโรงงาน แรงงาน ส่วนใหญ่ประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ จึงทำให้ยอดขายลดลง)

และอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (ยอดขายในประเทศลดลงเนื่องจากในประเทศเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัด ทำให้มีการหยุดใช้รถจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณการใช้ลดลง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.1 ปรับเพิ่มจากระดับ 97.7 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค ประจำเดือนตุลาคม พบว่า ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงจากเดือนกันยายน ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับเพิ่มขึ้น จากเดือนกันยายน

          ภาคกลาง มีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 89.0 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 89.6 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยภาวะอุทกภัยครั้งนี้ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจภาคกลางอย่างมาก โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานีที่ได้รับความเสียหาย และต้องหยุดการผลิตลง รวมทั้ง กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ต้องประสบภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่

ซึ่งค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จึงทำให้สินค้าขาดตลาด, แรงงานส่วนใหญ่ประสบปัญหาน้ำท่วมจึงไม่สามารถผลิตได้), อุตสาหกรรมยานยนต์ (ยอดขาย และยอดการส่งออกลดลง รวมถึงเกิดปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และแรงงาน เป็นผลจากสถานการณ์น้ำท่วม),

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (เนื่องจากโรงงาน แรงงาน ส่วนใหญ่ประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ จึงทำให้ยอดขายลดลง), อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ, และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (ยอดขายซอฟต์แวร์ ระบบบัญชี โรงงาน ในประเทศลดลง)

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.3 ปรับเพิ่มจากระดับ 94.5 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่ม ได้แก่ ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี

          ภาคเหนือ มีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนตุลาคม อยู่ที่ 85.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.5 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ได้แก่ ความกังวลในเรื่องภาวะชะลอตัวของภาคเกษตรที่ส่งผลต่อรายได้เกษตรกร ขณะเดียวกันเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้า ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (หินก่อสร้างมียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากหลายจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ, การขนส่งสินค้ามีปัญหา เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาน้ำท่วม), อุตสาหกรรมเซรามิก (สินค้าประเภท ถ้วย ชาม เซรามิก มียอดขายในประเทศลดลง,

ผลิตภัณฑ์ประเภทเซรามิค มียอดคำสั่งซื้อไปประเทศอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรปลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตที่สำคัญในประเทศประสบภัยน้ำท่วม) และหัตถอุตสาหกรรม (สินค้าประเภท เครื่องปั้นดินเผา ดอกไม้ประดิษฐ์ ในประเทศลดลง เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.2 ปรับเพิ่มจากระดับ 92.7 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 92.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 90.5 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่ม ได้แก่ ต้นทุนประกอบการ สะท้อนจากภาวะน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่ง ทำให้การขนส่งสินค้าเกิดความล่าช้า หรือไม่สามารถขนส่งสินค้าได้

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า (ยอดขายรองเท้าบูทในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงนี้เกิดอุทกภัยทำให้ความต้องการรองเท้าบูทเพิ่มขึ้น, ยอดขายรองเท้าแตะและรองเท้ายางในประเทศเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมแก้วและกระจก (ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแก้ว เช่น จาน ชาม มียอดส่งออกไปประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น) และอุตสาหกรรมก๊าซ (ยอดขายก๊าซออกซิเจนในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น, ยอดขายก๊าซ LPG และ NGV มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น)

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.7 ปรับตัวเพิ่มจากระดับ 88.4 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ซึ่งค่าดัชนีที่อยู่ในระดับเกิน 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในระดับที่ดี โดยเห็นว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายลงโดยเร็ว

          ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 83.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 101.7 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ภาวะน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ส่งผลกกระทบให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อการผลิตในภาคตะวันออก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ค่าดัชนีปรับลดลงและมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีปรับลดล ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ (ยอดขาย และยอดการส่งออกลดลง รวมถึงเกิดปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตและแรงงาน เป็นผลสถานการณ์น้ำท่วม), อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (เนื่องจากโรงงาน แรงงาน ส่วนใหญ่ประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ จึงทำให้ยอดขายลดลง) และอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (ยอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากในประเทศเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัด ทำให้มีการหยุดใช้รถจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณการใช้ลดลง)

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.3 ปรับลดลงจากระดับ 101.6 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต ซึ่งค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในอนาคตในระดับที่ไม่ดี

          ภาคใต้ มีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 93.1 โดยปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.7 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ความต้องการสินค้าและบริการที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา และปาล์มน้ำมัน ยังส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกร ตลอดจนอุตสาหกรรมแปรรูปที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง

สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (ยอดขายอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ข้าวสารและน้ำดื่มมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการกักตุนเพื่อเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย, ยอดส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่แข็ง ฯลฯ จากประเทศออสเตรเลีย อเมริกา แคนาดาและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (กระดาษทิชชูมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการกักตุนสินค้าไว้ใช้ช่วงเกิดอุทกภัย,

กระดาษคราฟท์มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศอเมริกาและจีนเพิ่มขึ้น) และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (ยอดขายน้ำมันปาล์มในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารมีการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในภาวะน้ำท่วม)

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 91.1 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่ม ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศลดลง แต่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น

โดยกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ มีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 86.8 ปรับลดลงจากระดับ 92.8 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ จึงทำให้สินค้าขาดตลาด, แรงงานส่วนใหม่ประสบปัญหาน้ำท่วมจึงไม่สามารถผลิตได้), อุตสาหกรรมเหล็ก (สินค้าประเภทโครงเหล็กแปรรูป แผ่นเหล็กมียอดขายในประเทศลดลง), อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (หินก่อสร้างมียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากหลายจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ,

การขนส่งสินค้ามีปัญหา เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาน้ำท่วม) และอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (ยอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากในประเทศเกิดอุทกภัยในหลายจังหวัด ทำให้มีการหยุดใช้รถจำนวนมากส่งผลให้ปริมาณการใช้ลดลง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.4 ปรับเพิ่มจากระดับ 95.6 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 99.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 84.1 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่ม ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ยอดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ เช่น ด้าย ไหม จากประเทศอเมริกาและออสเตรเลียเพิ่มขึ้น, ยอดขายผ้าทอ ผ้าฝ้ายในประเทศเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (เครื่องประดับประเภท พลอย เงิน มียอดการส่งออกไปประเทศเดนมาร์ก ออสเตรเลีย ตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น,

ยอดขายเครื่องประดับประเภทเงิน สแตนเลสในประเทศเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (ยอดส่งออกเฟอร์นิเจอร์ประเภทถอดประกอบในประเทศจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีเพิ่มขึ้น) และอุตสาหกรรมอาหาร (ยอดขายอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ข้าวสารและน้ำดื่มมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการกักตุนเพื่อเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย,

ยอดส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่แข็ง ฯลฯ จากประเทศออสเตรเลีย อเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.9 ปรับเพิ่มจากระดับ 88.9 จากเดือนกันยายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจาก สภาวะเศรษฐกิจโลกมากที่สุด รองลงมา คือ สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และอัตราแลกเปลี่ยน ตามลำดับ โดยพบว่าปัจจัยที่มีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ

          อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ที่มีต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ภาครัฐควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันน้ำท่วมในอนาคต ชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน เร่งฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงควรมีการแก้ไขปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน และมีราคาสูงด้วย…