เนื้อหาวันที่ : 2011-11-14 11:24:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2755 views

เก็บสารเคมีอย่างไรให้ปลอดภัยช่วงน้ำท่วม

ปภ.เตือนผู้ประสบภัยน้ำท่วม เก็บสารเคมีไว้ที่สูง งดใช้สารเคมี ป้องกันอันตรายคาดไม่ถึง

          ปภ. เตือนผู้ประสบภัยน้ำท่วม เก็บสารเคมีไว้ที่สูง งดใช้สารเคมี ป้องกันอันตรายคาดไม่ถึง

          กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนผู้ประสบภัยน้ำท่วมจัดเก็บสารเคมีให้มิดชิด โดยวางไว้ในที่สูง ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง พร้อมใช้ถุงพลาสติกสวมทับและรัดยางให้เรียบร้อย แยกเก็บสารเคมีจากอาหารและเครื่องดื่ม หากเป็นไปได้ ควรงดใช้สารเคมีทุกชนิดในช่วงน้ำท่วม เพื่อป้องกันสารเคมี รั่วไหลหรือแพร่กระจายไปตามน้ำ ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น

          นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในช่วงที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วม อาจทำให้สารเคมีที่ใช้ภายในบ้านเรือนรั่วไหลและกระจายไปตามน้ำ ก่อให้เกิดอันตรายได้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีจัดการดูแลสารเคมีในช่วงน้ำท่วม ดังนี้

สำรวจและตรวจสอบภาชนะบรรจุสารเคมีให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ไม่มีรอยบุบ ผุกร่อนหรือแตก ฝาภาชนะปิดมิดชิด พร้อมนำถุงพลาสติกสวมทับภาชนะบรรจุสารเคมีอีกชั้นหนึ่งและมัดปากถุงด้วยยางหรือเชือกอย่างแน่นหนา เพื่อป้องกันมิให้สารเคมีรั่วไหล จากนั้นให้นำสารเคมีไปจัดเก็บไว้ในที่สูง ซึ่งพ้นจากระดับน้ำท่วมถึง

โดยเก็บแยกจากอาหารและเครื่องดื่ม และระมัดระวังอย่าให้สารเคมีรั่วไหลปะปนกับน้ำที่ท่วม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ หากเป็นไปได้ ควรงดใช้สารเคมีในช่วงน้ำท่วม สำหรับการกำจัดขยะประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ให้คัดแยกออกจากขยะแห้งประเภทอื่น และเก็บให้พ้นน้ำ

          กรณีพบเห็นภาชนะบรรจุสารเคมี บ่อกักเก็บน้ำทิ้ง หรือจุดทิ้งขยะอันตรายในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการขนย้ายและกำจัดอย่างถูกวิธี หลังจากเดินลุยน้ำท่วมหรือ สัมผัสกับสารเคมี ควรทำความสะอาดร่างกายและเช็ดให้แห้ง หากมีอาการผิดปกติ เช่น คัน เป็นผื่นแดงตามผิวหนัง คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ อาเจียน เป็นต้น ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาต่อไป