เนื้อหาวันที่ : 2011-11-06 13:28:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1764 views

คปภ.จับมือธุรกิจประกันวินาศภัย เร่งจ่ายสินไหม ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

คปภ. ถกภาคธุรกิจประกันวินาศภัย เร่งรัดมาตรการจ่ายค่าสินไหมทดแทนช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย

          คปภ. ถกภาคธุรกิจประกันวินาศภัย เร่งรัดมาตรการจ่ายค่าสินไหมทดแทนช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย

          สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยและบริษัทประกันภัย วางมาตรการให้ความช่วยเหลือ ผู้เอาประกันภัย ในการกระชับกระบวนการชำระค่าสินไหมทดแทนให้รวดเร็วขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

          นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยและบริษัทประกันภัย เกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าบริษัทประกันภัยสามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องบริหารความเสี่ยง และจัดทำประกันภัยต่อตามสัดส่วนของเงินกองทุนกับบริษัทประกันภัยต่อที่มีความมั่นคงและได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันที่มีมาตรฐานระดับโลก ซึ่งบริษัทประกันภัยได้ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว

โดยเฉพาะผู้เอาประกันภัยรายย่อยและรายกลาง เช่น บ้านที่อยู่อาศัยและรถยนต์ที่อยู่ในพื้นที่ที่น้ำเริ่มลดระดับ เช่น จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี เป็นต้น สำหรับผู้เอาประกันภัย รายใหญ่ อาทิเช่น โรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม บริษัทประกันวินาศภัยได้เริ่มพบปะกับผู้เอาประกันและเข้าสำรวจความเสียหาย

          นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่าเหตุการณ์อุทกภัยในครั้งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงภัยของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และ ภาคประชาชน ดังนั้น จึงขอให้ภาครัฐมีแผนงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัยไทยกับบริษัทประกันภัยต่อในต่างประเทศ

ทั้งนี้สมาคมประกันวินาศภัยได้ขอให้สำนักงาน คปภ. ช่วยผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายอย่างรวดเร็ว เช่น เกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติผู้ประเมินวินาศภัย เป็นต้น นอกจากนี้ธุรกิจประกันภัยยังมีแนวคิดในการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างบริษัทประกันภัย เช่น ผู้สำรวจภัย รถลาก อู่ซ่อมรถ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องจักร เป็นต้น เพื่อให้บริษัทสามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

          “ การรอให้น้ำลด จะทำให้กระบวนการเนิ่นช้าไปอีก เราจึงต้องเริ่มเสียแต่ตอนนี้ คปภ. จะปรับเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้ผู้ประเมินความเสียหาย เพื่อให้มีบุคลากรเข้ามารองรับอย่างเพียงพอ ”

          เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าสำนักงาน คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัย ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมมาตรการช่วยเหลือด้านการประกันภัย ดังนี้

          1. มาตรการศึกษารูปแบบการรับประกันภัย สำหรับมหันตภัยร่วมกันทุกบริษัท (pool)

          2. มาตรการฟื้นฟู และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน

          3. มาตรการทางภาษีในการกำหนดเงินสำรองค่าสินไหมทดแทน การนำเข้าเครื่องจักรสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหาย

          4. คณะทำงานติดตามและประเมินมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วมทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน

          ขณะนี้ระดับน้ำได้เริ่มลดลงแล้วในบางจังหวัด สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย จะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านการประกันภัยเฉพาะกิจ อาทิเช่น จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดลพบุรี และอยุธยา เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น อาทิเช่น บริการตรวจสภาพและซ่อมแซมรถที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย

ดังนั้น ขอให้ประชาชนมั่นใจต่อระบบธุรกิจประกันภัยไทยที่สามารถรองรับความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย และสำนักงาน คปภ.มีระบบการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนให้เป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือด้านการประกันภัย สายด่วนประกันภัย 1186 ทั่วประเทศ