เนื้อหาวันที่ : 2011-10-17 15:03:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1756 views

กิตติรัตน์ คุยโวมั่นใจรัฐบาลฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับสู่สภาพเดิมได้

กิตติรัตน์ นำทีม รมว.เศรษฐกิจแถลงมั่นใจรัฐบาลสามารถบริหารฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับสู่สภาพเดิมได้แม้น้ำท่วมจะรุนแรง ยืนยันเดินหน้าโครงการประชานิยมต่อ กระทรวงการคลังรับจีดีพีวูบ 1-1.7%

กิตติรัตน์ นำทีม รมว.เศรษฐกิจแถลงมั่นใจรัฐบาลสามารถบริหารฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับสู่สภาพเดิมได้แม้น้ำท่วมจะรุนแรง ยืนยันเดินหน้าโครงการประชานิยมต่อ กระทรวงการคลังรับจีดีพีวูบ 1-1.7%

วันนี้ (17 ต.ค. 2554) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายแพทย์วรรณรัตน์  ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายประสาร  ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านเศรษฐกิจ) ครั้งที่ 1/2554

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างรุนแรง ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายออกมาเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน เนื่องจากยังมีอุทกภัยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องติดตามประเมินความเสียหายอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ไม่ว่าผลกระทบจากอุทกภัยจะรุนแรงแค่ไหน เชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมาสู่สภาพเดิมได้ ซึ่งต้องรอการประเมินสรุปผลกระทบความเสียหายก่อน

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการฟื้นฟู ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 80,000 ล้านบาทที่รัฐบาลได้ประกาศไว้แล้วนั้น จะต้องรอบความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งเบื้องต้นรัฐบาลได้จัดทำแผนการใช้งบประมาณไว้แล้ว ซึ่งถ้าจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลก็พร้อมจะกู้ โดยจะให้กระทรวงการคลังไปศึกษาวิธีการดำเนินการต่อไป

ส่วนโครงการประชานิยมต่าง ๆ ที่ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลชะลอออกไปก่อนนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่าโครงการที่รัฐบาลได้ประกาศดำเนินการไปแล้วทุกโครงการเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป มั่นใจว่าโครงการต่าง ๆ เหล่านั้นจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ และไม่จำเป็นต้องใช้เงินในการดำเนินโครงการทันที

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงถึงผลกระทบอุทกภัยต่อ GDP ว่า จากการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 1 - 1.7 ทั้งนี้ตัวเลขผลกระทบยังไม่ชัดเจนซึ่งอุทกภัยยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ถ้าเร่งดำเนินการซ่อมแซมความเสียหาย เร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจความเสียหายจาก GDP ที่ประเมินไว้ก็จะลดลง แต่จะอยู่ระหว่างร้อยละ 1 - 1.7

ซึ่งในเบื้องต้นในที่ประชุมได้กำหนดมาตรการการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแบ่งออกเป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชน มาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และมาตรการช่วยเหลือแรงงาน ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ กลับไปพิจารณาในรายละเอียดและนำกลับมาเสนอให้ที่ประชุมได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

นายประสาร  ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูและสภาพคล่องทางการเงินให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย ซึ่งจากการสำรวจจำนวนสินเชื่อที่ค้างชำระกับธนาคารพาณิชย์ของไทย และต่างประเทศ มีจำนวนประมาณ 60,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.75% ของสินเชื่อทั้งระบบ และอยู่ในสถานะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยรองรับได้

นอกจากนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประสานขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เพื่อให้ลดหย่อน ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งภายหลังน้ำลดจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อเพื่อการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ และสินเชื่อสำหรับผู้ประสบอุทกภัยต่อไป

นายแพทย์วรรณรัตน์  ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ว่าเป็นโครงการที่กลุ่มผู้ประกอบการที่มีลักษณะการดำเนินงานเหมือนหรือคล้ายกันสามารถใช้แรงงานกลุ่มเดียวกันได้ไปทำงานในโรงงานที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยจะจ่ายเงิน และให้สวัสดิการเหมือนเดิมทุกอย่างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงาน

นอกจากนี้ยังจะดำเนินโครงการฝึกอบรมทักษะ ให้ความรู้ด้านวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อนำไปประกอบอาชีพ สำหรับแรงงานที่ตกงานและไม่มีงานรองรับ โดยจะจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ผู้เข้ารับการอบรมตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง

ส่วนการช่วยเหลือโรงงานในการฟื้นฟูซ่อมแซมเครื่องจักรนั้น เนื่องจากต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาซ่อมแซมเครื่องจักรดังกล่าว พร้อมทั้งจะประสานกับกรมอาชีวศึกษาเพื่อนำนักศึกษาที่มีความรู้สามารถซ่อมแซมเครื่องจักรในเบื้องต้นได้ มาทำการซ่อมแซมให้กับโรงงานต่าง ๆ