เนื้อหาวันที่ : 2011-10-14 16:23:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1874 views

มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2554

กระทรวงการคลังแถลงมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งในส่วนของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจ โดยจะให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน ภาษี งบประมาณและการเบิกจ่าย และการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เสี่ยงภาคใต้

          กระทรวงการคลังแถลงมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งในส่วนของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจ โดยจะให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการเงิน ภาษี งบประมาณและการเบิกจ่าย และการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เสี่ยงภาคใต้

          นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายไพบูลย์ พิมพ์พิสิฐถาวร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมกันแถลงข่าวมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2554 ซึ่งปัจจุบันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงและกว้างขวาง โดยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 กระทรวงการคลังได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ดังนี้

          1. มาตรการด้านการเงิน
          มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 8 แห่ง ได้แก่ 1) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 2) ธนาคารออมสิน 3) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 4) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 5) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 6) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 7) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม และ8) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย รวมทั้ง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเดิมของธนาคารในเรื่องการพักชำระหนี้ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ และลดดอกเบี้ย รวมทั้ง ให้เงินกู้ใหม่แก่ลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไป เพื่อฟื้นฟูอาชีพและซ่อมแซมบ้าน/อาคารที่เสียหาย โดยลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าปกติและลดหย่อนเกณฑ์การพิจารณา ดังมีรายละเอียดการให้ความช่วยเหลือของแต่ละสถาบันการเงิน ดังนี้

          1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สายด่วน 02 2800180 ต่อ 2352
          (1) กรณีลูกค้าเสียชีวิตจากอุทกภัย จะจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ โดย ธ.ก.ส. รับภาระเอง

          (2) ขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้เดิมเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2554-2556 และงดคิดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2554-2556

          (3) ให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตรายละไม่เกิน 100,000 บาท และลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติที่ ธ.ก.ส. เรียกเก็บจากลูกค้าลงร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี

          2. ธนาคารออมสิน สายด่วน 1115
          สินเชื่อเคหะ
          (1) พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย หรือพักชำระหนี้เงินต้นไม่เกิน 6 เดือน

          (2) ปรับลดเงินงวด และ/หรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ โดยเป็นไปตามเงื่อนไขการให้สินเชื่อเคหะของธนาคาร (ไม่เกิน 30 ปี)

          (3) ให้กู้เพิ่มเพื่อเป็นเงินกู้กรณีฉุกเฉินรายละ 300,000 บาท และไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนเงินกู้ตามสัญญาเดิม ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 ร้อยละ 3.25 ต่อปี ปีที่ 3-5 เท่ากับร้อยละ MLR-1 ต่อปี

          (4) เงินกู้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยสำหรับลูกค้าสินเชื่อเคหะเดิมรายละ 300,000 บาท และไม่เกินร้อยละ 100 ของราคาประเมินหลักทรัพย์เดิม สำหรับประชาชนทั่วไปไม่เกินรายละ 300,000 บาท ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับร้อยละ 3.25 ปีที่ 3-5 เท่ากับร้อยละ MLR-1 ต่อปี

          สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน สินเชื่อโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน (หนี้นอกระบบ) สินเชื่อธุรกิจห้องแถว และสินเชื่อองค์กรชุมชน
          (1) พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยไม่เกิน 6 เดือน

          (2) ปรับลดเงินงวด และ/หรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ได้ไม่เกิน 1 ปี

          (3) ให้กู้เพิ่มสำหรับลูกค้าสินเชื่อเดิมและประชาชนทั่วไป โดยสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับร้อยละ MRR+1 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กรณีผิดชำระหนี้ร้อยละ 14 ต่อปี ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี

          (4) ให้กู้เพิ่มสำหรับลูกค้าสินเชื่อเดิมและประชาชนทั่วไป โดยสินเชื่อห้องแถวรายละไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับร้อยละ MLR-1.50 ต่อปี ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี

สินเชื่อธุรกิจและ SMEs
          (1) พักชำระหนี้เงินต้น โดยผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
          (2) ขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้จากสัญญากู้เดิมได้ไม่เกิน 1 ปี
          (3) ให้กู้เพิ่มรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับร้อยละ MLR-1.50 ต่อปี ระยะเวลาชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี

          3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สายด่วน 02 6459000
          (1) วงเงินให้กู้สำหรับลูกหนี้เดิมของ ธอส. หรือลูกค้าใหม่เพื่อปลูกสร้างหรือซ่อมแซมอาคารไม่เกินร้อยละ 100 ของราคาประเมินค่าก่อสร้างอาคาร/ค่าซ่อมแซมอาคาร ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี อัตราดอกเบี้ยแบ่งเป็น

          (1.1) ลูกหนี้เดิมของธนาคาร
          - กรณีหลักประกันได้รับความเสียหาย ลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนที่ 1-4 เหลือร้อยละ 0 ต่อปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยให้เลือก 2 แบบ

          - กรณีได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 ต่อปีเป็นระยะเวลา 1 ปี หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยลอยตัวตามประกาศธนาคาร
          - กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ต่อปีตลอดระยะเวลาที่เหลืออยู่

          (1.2) กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 5 ปี โดยปีที่ 1-5 เท่ากับร้อยละ 2 ต่อปี หลังจากนั้นคิดดอดอกเบี้ยลอยตัวตามประกาศธนาคาร

          (2) กรณีอาคารที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ตามการตรวจสอบของธนาคาร ธนาคารจะพิจารณาปลดภาระเฉพาะภาระหนี้ตามยอดหนี้คงเหลือในส่วนของอาคาร โดยผู้กู้ผ่อนชำระหนี้ในส่วนของที่ดินที่คงเหลือ (ถ้ามี) ในอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม

          (3) ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ทุกวงเงินกู้และค่าธรรมเนียม ค่าเบี้ยปรับในรายการที่เกี่ยวข้องทุกกรณี

          4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สายด่วน 1357
          (1) วงเงินกู้เพื่อปรับปรุง ซ่อมแซม ฟื้นฟูกิจการ และ/หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนรายละไม่เกิน 1,000,000 บาท ระยะเวลากู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 6 ปี และระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 2 ปี

          (2) อัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ร้อยละ 8 ต่อปีตลอดอายุสัญญา โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 2 ต่อปีตลอดอายุสัญญา ดังนั้นผู้ประกอบการจะจ่ายจริงที่ร้อยละ 6 ต่อปีตลอดอายุสัญญา

          (3) ไม่ต้องมีหลักประกัน

          5. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) สายด่วน 1302
          โครงการยิ้มสู้ฟื้นฟูอาชีพ
          (1) ผ่อนปรนการชำระหนี้ ทั้งส่วนเงินต้นและกำไร เป็นระยะเวลา 3 เดือน และเดือนที่ 4 – 24 ให้ชำระทั้งส่วนเงินต้นและกำไร โดยคิดอัตรากำไรต่ำกว่าสัญญาเดิมร้อยละ 1 หลังจากนั้นคิดอัตรากำไรตามสัญญาเดิม หรือชำระเฉพาะส่วนกำไรเป็นระยะเวลา 12 เดือน เดือนที่ 13 – 24 ให้ชำระทั้งส่วนเงินต้นและกำไรตามสัญญาเดิม

          (2) ให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม สำหรับก่อสร้าง ซ่อมแซม/ต่อเติมที่อยู่อาศัย และ/หรือสถานประกอบธุรกิจ ที่ได้รับความเสียหายตามความจำเป็น ให้สินเชื่อไม่เกินร้อยละ 100 ของราคาประเมินหลักประกันเดิม/หลักประกันอื่นเพิ่มเติม

          (3) ให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม สำหรับใช้หมุนเวียนในธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องจากการได้รับผลกระทบทางอ้อม ให้สินเชื่อไม่เกินร้อยละ 100 ของราคาประเมินหลักประกันเดิม

          (4) ระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 7 ปีสำหรับสินเชื่อเอนกประสงค์ และไม่เกิน 30 ปีสำหรับสินเชื่อเพื่อก่อสร้าง ซ่อมแซม ต่อเติมที่อยู่อาศัย

          (5) อัตรากำไร
          (5.1) กรณีไม่ขออนุมัติวงเงินเพิ่ม
          - พักชำระหนี้ ทั้งส่วนเงินต้นและกำไร เป็นระยะเวลา 3 เดือน และ เดือนที่ 4 – 24 ให้ชำระทั้งส่วนเงินต้นและกำไร โดยคิดอัตรากำไรต่ำกว่าสัญญาเดิมร้อยละ 1 หลังจากนั้นคิดอัตรากำไรตามสัญญาเดิม หรือ
          - พักชำระเฉพาะส่วนกำไร เป็นระยะเวลา 12 เดือน
          เดือนที่ 13 – 24 ให้ชำระทั้งส่วนเงินต้นและกำไร โดยคิดอัตรากำไรต่ำกว่าสัญญาเดิมร้อยละ 1 หลังจากนั้นคิดอัตรากำไรตามสัญญาเดิม

          (5.2) กรณีขออนุมัติวงเงินเพิ่ม
          - สำหรับสินเชื่อเพื่อก่อสร้าง ซ่อมแซม/ต่อเติม ที่อยู่อาศัย
          ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน
          เดือนที่ 1-3 เริ่มต้นที่ร้อยละ 1.0 สูงสุดไม่เกินร้อยละ 2.75
          เดือนที่ 4-24 เริ่มต้นที่ร้อยละ SPRL–2.50 สูงสุดไม่เกินร้อยละ SPRL-1.50
          ปีที่ 3 เป็นต้นไป เริ่มต้นที่ร้อยละ SPRL–1.50 สูงสุดไม่เกินร้อยละ SPRL-0.50

          - สินเชื่อวงเงินทุนระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน
          ปีที่ 1 เริ่มต้นที่ร้อยละ SPRL–1.75 สูงสุดไม่เกินร้อยละ SPRL–0.25
          ปีที่ 2 เริ่มต้นที่ร้อยละ SPRL–1.25 สูงสุดไม่เกินร้อยละ SPRL
          ปีที่ 3 เป็นต้นไปร้อยละ SPRL

          - สินเชื่อวงเงินทุนหมุนเวียน และวงเงินเบิกถอนเงินสด
          ปีที่ 1 เริ่มต้นที่ร้อยละ SPRL–1.75 สูงสุดไม่เกินร้อยละ SPRL–0.25
          ปีถัดไป ให้พิจารณาตามความเหมาะสม

          - สินเชื่อวงเงินเอนกประสงค์ ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 3 เดือน
          เดือนที่ 1-3 เริ่มต้นที่ร้อยละ 0.75 สูงสุดไม่เกินร้อยละ 2.00
          เดือนที่ 4-24 ร้อยละ SPRR+6.25
          ปีที่ 3 เป็นต้นไปร้อยละ SPRR+7.25

          โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย
          (1) ผู้ประกันตนไว้กับสำนักงานประกันสังคมตามมาตรา 33 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยน้ำท่วม เพื่อนำไปซ่อมแซม ปรับปรุงที่อยู่อาศัยของตนเองและหรือของบิดา-มารดารายละไม่เกิน 50,000 บาท

          (2) ผู้ประกอบกิจการที่ขึ้นทะเบียนจ่ายเงินสมทบ กองทุนเงินทดแทนกับสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยน้ำท่วม เพื่อนำไปฟื้นฟูสถานประกอบการ เครื่องจักรอุปกรณ์ หมุนเวียนในธุรกิจรายละไม่เกิน 1,000,000 บาท

          (3) ระยะเวลาการผ่อนชำระ 12 เดือนถึง 60 เดือน
          (4) อัตรากำไร
          (4.1) สำหรับผู้ประกันตน สินเชื่อวงเงินอเนกประสงค์

          (4.2) สำหรับผู้ประกอบกิจการ (บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล)

          6. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สายด่วน 02 2712929
          สินเชื่อหมุนเวียนเพื่อการส่งออก
          (1) ขยายระยะเวลาการรับชำระหนี้ หรือการต่อตั๋วเกินเทอม
          (2) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย
          สินเชื่อหมุนเวียนเพื่อการนำเข้า
          (1) ขยายระยะเวลาการกู้ Trust Receipt
          (2) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย
          สินเชื่อระยะยาว (กรณีวงเงินที่มีในปัจจุบัน)
          (1) พักการชำระหนี้ต้นเงินกู้และดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 2 เดือน
          (2) เลื่อนกำหนดการผ่อนชำระหนี้ หรือปรับเงื่อนไขในการผ่อนชำระหนี้
          ในส่วนของ ระยะเวลา/จำนวนเงิน
          (3) ยกเว้นการคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดชำระ
          สินเชื่อระยะยาว (กรณีขอเงินกู้เพิ่มเติมเพื่อซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น)
          (1) กำหนดอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน
          (2) ระยะเวลาการชำระคืน เงื่อนไขการผ่อนชำระและเงื่อนไขอื่นๆ ให้ฝ่ายงานด้านการตลาดเป็นผู้นำเสนอขออนุมัติจากผู้มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อ

          7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สายด่วน 02 3022741 ต่อ 157
          (1) พักการชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน เป็นระยะเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้า บสย. ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2554 และถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ถึง 31 มีนาคม 2555

          (2) ให้ความร่วมมือกับสถาบันการเงินที่ลูกค้าได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ในการผ่อนปรนเรื่องการพักชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้ตามปกติ

          8. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) สายด่วน 02 6189933
          (1) พักชำระหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน
          (2) ปรับลดเงินงวด หรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ออกไปรวมไม่เกิน 30 ปี
          (3) ในกรณีที่ลูกค้ามีความประสงค์จะขอกู้เพิ่มเพื่อนำเงินไปซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหาย บตท. จะเป็นผู้ประสานกับสถาบันการเงินเพื่อให้กู้เพิ่มต่อไป

          9. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ. กรุงไทย) สายด่วน 02 2084171
          (1) เงินกู้กรุงไทยสู้อุทกภัย ให้วงเงินกู้ประจำ (T/L) ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

          (2) เงินทุนหมุนเวียนกรุงไทยสู้อุทกภัย สำหรับเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ธนาคารจะพิจารณาให้ตามความเหมาะสม

          (3) โครงการกรุงไทยสู้อุทกภัย สำหรับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายแต่ไม่ประสงค์กู้เพิ่ม โดยให้ปลอดชำระเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 6 เดือน

          (4) สินเชื่อที่อยู่อาศัยกรุงไทยสู้อุทกภัย ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย สำหรับลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย โดยให้ปลอดชำระเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 6 เดือน

          (5) ธนาคารยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ธนาคารได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทุกบัญชีแล้ว โดยมีผลตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554

          (6) กรุงไทยจับคู่ธุรกิจสู้อุทกภัย โดยจัด Business Matching ระหว่างผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย กับผู้ประกอบการที่จำหน่ายวัสดุก่อสร้างและเครื่องจักรอุปกรณ์ ผู้รับเหมา เพื่อให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถปรับปรุงซ่อมแซมกิจการ หรือทดแทนและซ่อมบำรุงเครื่องจักร อุปกรณ์ ในสถานประกอบการที่ได้รับความเสียหายในราคาพิเศษ

          (7) โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 60 งวด อัตราดอกเบี้ย 6 เดือนแรกอัตราคงที่ร้อยละ 4 ต่อปี หลังจากนั้นดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากประจำ 6 เดือนบุคคลธรรมดา + ร้อยละ 1.65 ต่อปี ปลอดเงินต้น 6 เดือน

          2. มาตรการด้านภาษี
          2.1 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินชดเชยที่ผู้ประสบอุทกภัยได้รับจากภาครัฐ

          2.2 การยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนเท่ากับจำนวนความเสียหายที่ได้รับสำหรับผู้ประสบอุทกภัยที่ได้ลงทะเบียนไว้กับศูนย์หรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือของทางราชการ

          2.3 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ประสบอุทกภัยได้รับจากการประกันภัยเพื่อชดเชยความเสียหายดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอหรือค่าเสื่อมราคาแล้ว

          2.4 การบริจาคให้กับผู้ประสบอุทกภัยผ่านหน่วยงานส่วนราชการ องค์การของรัฐบาลองค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือผ่านเอกชนที่เป็นตัวแทนรับบริจาคที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสรรพากร เพื่อนำไปบริจาคต่อให้กับผู้ประสบอุทกภัยนั้น สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในทางภาษีได้ 1.5 เท่า สำหรับการบริจาคระหว่างวันที่ 1 กันยายน – 31 ธันวาคม 2554 และผู้ได้รับบริจาคได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคมาถือเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษีเงินได้

          2.5 การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำสินค้าไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

          2.6 กระทรวงการคลังจะพิจารณาขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีสรรพากรสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยรุนแรงตามความจำเป็นและสมควร

          3.มาตรการด้านงบประมาณและการเบิกจ่าย
          3.1 มาตรการการสนับสนุนจังหวัดและส่วนราชการในการใช้จ่ายเงินทดรองราชการ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยกรมบัญชีกลาง ซึ่งจังหวัดที่ประสบภัยสามารถขอขยายวงเงินมายังกรมบัญชีกลางจากเดิมที่มีสิทธิใช้ได้ 50 ล้านบาท เป็น 250 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน (หากเกินกว่านี้ให้เป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงการคลังในการพิจารณาอนุมัติ) โดยจนถึง ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2554 ได้มีการเบิกจ่ายไปแล้วจำนวน 4,260 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการใน 3 จังหวัด คือ กำแพงเพชร อุทัยธานี และสระบุรี

          3.2 การขยายระยะเวลาและผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกันเงินงบประมาณปี 2554 ไว้เบิกเหลื่อมปีกรณีไม่มีหนี้ผูกพันได้อีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2555 เพื่อให้ส่วนราชการสามารถเบิกจ่ายเงินตามระบบ GFMIS ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรายการเพื่อช่วยเหลือแก้ไขและฟื้นฟูภายหลังอุทกภัย

          4. มาตรการด้านอื่นๆ
          4.1 มาตรการด้านที่ราชพัสดุ โดยกรมธนารักษ์
          (1) กรณีที่พักอาศัยเสียหายบางส่วน ให้ยกเว้นการเก็บค่าเช่า 1 ปี และ 2 ปีสำหรับรายที่เสียหายทั้งหมด
          (2) กรณีเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อทำการเกษตร ให้ยกเว้นการเก็บค่าเช่า 1 ปี
          (3) กรณีเช่าอาคารราชพัสดุ หากไม่สามารถประกอบอาชีพได้เกิน 3 วัน ให้ยกเว้นการเก็บค่าเช่า 1 ปี

          4.2 มาตรการด้านการประกันภัย โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งจะเร่งรัดให้บริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างรวดเร็ว โดยให้ผู้ที่ประสบภัยสามารถติดต่อขอรับบริการผ่านสายด้วนประกันภัย โทร 1186

          4.3 การจัดตั้งศูนย์วายุภักษ์ร่วมใจช่วยภัยน้ำท่วม จังหวัดลพบุรี เพื่อรับผิดชอบดูแลปัญหาอุทกภัยในจังหวัดลพบุรี โดยศูนย์ดังกล่าวจะเป็นศูนย์กลางในการรับแจ้งข้อมูลการขอความช่วยเหลือ และการประสานงานให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในจังหวัดลพบุรีที่ประสบปัญหาอุทกภัย ซึ่งปัจจุบันมี 2 หน่วยที่ดำเนินการ คือ
          (1) ท่าวุ้ง (ที่ทำการ ธ.ออมสิน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี) เปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม2554
          (2) ท่าศาลา (ใกล้ห้างบิ๊กซี สาขา 1 อ.เมือง จ.ลพบุรี) เปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2554

          4.4 การจัดตั้งสายด่วนรับแจ้งเหตุอุทกภัย กระทรวงการคลัง โทร 1689 เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการรับแจ้งเหตุอุทกภัย และการขอรับความช่วยเหลือ

          4.5 การจัดตั้งศูนย์พักพิงช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี โดยใช้สถาบันพัฒนาการจัดเก็บภาษี กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสนามบินน้ำ โดยศูนย์ฯ ดังกล่าวมีห้องประขุมสัมนาและห้องพักประมาณ 200 ห้องและสามารถรองรับผู้อพยพในเบื้องต้นได้จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 คน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง (นายกฤษฎา อุทยานิน) เป็นผู้รับผิดชอบ

          5. การเตรียมการรองรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เสี่ยงภาคใต้
          จากการสำรวจพื้นที่ พบว่า พื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดอุทกภัยสูงในภาคใต้อยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สุราษฎร์ธานี และปัตตานี กระทรวงการคลังจึงได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยจะดำเนินการจัดตั้งศูนย์วายุภักษ์ร่วมใจช่วยภัยน้ำท่วมใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา และสุราษฎร์ธานี รวมทั้งได้จัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็นไว้ล่วงหน้าเพื่อให้สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง (นายประสิทธิ์ สืบชนะ) เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งคาดว่าการเตรียมการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์