เนื้อหาวันที่ : 2011-10-14 15:30:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1145 views

นิคมอุตสาหกรรมพังยับน้ำท่วมเสียหายหลายร้อยเท่า

คาดวิกฤตน้ำท่วมกระทบการตัดสินใจลงทุน และอาจมีการย้ายฐานการผลิต คนตกงานนับแสน เชื่อไทยยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค

          คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล คาดวิกฤตน้ำท่วมกระทบการตัดสินใจลงทุน และอาจมีการย้ายฐานการผลิต เชื่อไทยยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค

          นางสาวนฤมล โรจน์สิรวรพัฒน์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริการอุตสาหกรรม คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า มากกว่า 59 จังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมไม่เพียงแต่พื้นที่การเกษตรเท่านั้นที่เสียหาย แต่ยังทำความเสียหายอย่างรุนแรงไปถึงนิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางอีกหลายแห่ง ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของระบบบการขนส่งสินค้า เมื่อน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทยตั้งแต่เดือนสิงหาคม และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตไม่มากนัก เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ตั้งอยู่ห่างจากพื้นที่น้ำท่วม

แต่เมื่อระดับเริ่มเพิ่มสูงขึ้นจนเกินกว่าแนวป้องกัน และมากกว่าที่เกิดขึ้นในจังหวัดอยุธยาในวันที่ 5 ตุลาคม ซึ่งเป็นฐานการผลิตใหญ่ และส่งผลกระทบรุนแรง, มีความแตกต่างกันอย่างมากมายมหาศาลของความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันนี้กับหลายเดือนก่อนหน้า “ความสูญเสียในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 เท่า ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งโดนน้ำท่วม ส่วนอีก 2 แห่งยังคงอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง” 

          โกดังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าจำนวนมากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดอยุธยาและบนถนนพหลโยธินที่ปัจจุบันถูกน้ำท่วมบางช่วง ซึ่งสถานการณ์ยังคงอยู่ในขั้นวิกฤตเนื่องจากมีฝนตกอย่างต่อเนื่องช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมารวมทั้งปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลกำลังไหลลงมายังจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ดังนั้นนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร กำลังอยู่ในอันตราย

          นางสาว นฤมล ยังกล่าวอีกว่า มากกว่า 500 โรงงานต้องปิดตัวลงในช่วงนี้ และคนงานมากกว่า 100,000 คนต้องตกงาน “ความเสียหายจากน้ำท่วมน่าจะใช้เวลา 2 – 3 เดือนหลังจากน้ำลดในการแก้ปัญหาต่างๆ เพราะบริษัทต่างๆ ต้องใช้เวลาในการปรับปรุง ซ่อมแซม อาคาร และเครื่องจักร ”

          ภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากปี 2553 และเกิดการขาดแคลนพื้นที่โกดังสินค้าในบางพื้นที่ โดยเฉพาะโกดังขนาดใหญ่และมีมาตรฐานดี ในอยุธยา และบางพื้นที่บนถนนบางนา – ตราด และแหลมฉบังซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในขณะที่อุปทานมีอยู่จำกัด “ผู้ประกอบการควรเข้าใจถึงความต้องการของผู้เช่าที่คำนึงถึงมาตรฐานของอาคาร ทำเล รูปแบบอาคาร และพื้นที่นั้นๆ เป็นพื้นที่ปลอดภาษีหรือพื้นที่ธรรมดาทั่วไป เป็นต้น และพวกเราหวังว่าโกดังสินค้าใหม่ทีจะเกิดขึ้นในอนาคตควรจะเป็น raised floor ทั้งหมด” นางสาว นฤมล กล่าวเพิ่มเติม

          ถึงแม้ว่าปฏิกริยาหลังจากน้ำท่วมอาจมีการย้ายฐานการผลิตบ้าง แต่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยยังคงสดใส นาย ปฏิมา จีระแพทย์ กรรมการผู้จัดการ ของคอลลิเออร์ส กล่าวว่า “นักลงทุนจำนวนมากลงทุนเป็นเงินจำนวนมหาศาล และเป็นระยะเวลานานแล้ว และพวกเขาไม่สามารถที่จะย้ายไปที่อื่นได้ และยังต้องใช้เวลาในการสร้างเครือข่ายด้วย”

          ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และลาว “ประเทศไทยยังคงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการเป็นฐานการผลิต เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ระบบสาธารณูปโภคที่สามารถรับมือกับน้ำท่วมได้ เมื่อเปรียบเทียบกับ เวียดนาม และกัมพูชา” 

          ความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งคือการสร้างโกดังสินค้าสำรองในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง “ภายหลังจากเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ธุรกิจในกลางกรุงเทพมหานครเมื่อปีที่ผ่านมา ผู้เช่าในอาคารสำนักงานต่างเริ่มมองหาสำนักงานสำรองในทำเลอื่น และน่าจะเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน” นายปฏิมา กล่าว

อย่างไรก็ตามการประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมน่าจะใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือมากกว่านั้น “พวกเราคาดหวังว่าความเสียหายจะไม่มากจนเกินไป” นาย ปฏิมา กล่าวเพิ่มเติม