เนื้อหาวันที่ : 2011-10-04 11:48:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1883 views

ก.แรงงานระดมความเห็นหาทางออกนโยบายค่าจ้าง 300

ที่ปรึกษา ก.แรงงาน เผยนโยบายขึ้นค่าจ้างตั้งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน เชื่อเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ชี้มาตรการลดผลกระทบธุรกิจต้องพิจารณาระยะยาว

ที่ปรึกษา ก.แรงงาน เผยนโยบายขึ้นค่าจ้างตั้งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน เชื่อเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ชี้มาตรการลดผลกระทบธุรกิจต้องพิจารณาระยะยาว

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2554 กระทรวงแรงงาน จัดสมมนาเชิงปฏิบัติการ ทางออกของนโยบายการับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ครั้งที่ 2 ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมี ดร.อำมร  เชาวลิต ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน และผู้แทนภาครัฐ  ผู้นำภาคธุรกิจ ผู้แทนองค์กรแรงงาน ผู้แทนสหภาพแรงงาน ร่วมสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นในการหาเครื่องมือและวิธีการที่เหมาะสมร่วมกัน และเป็นการเตรียมความพร้อมของกระทรวงแรงงานในการดำเนินนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงแนวทางการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตามนโยบายของรัฐบาลและการเตรียมความพร้อมของกระทรวงแรงงานว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท และผู้ที่จบปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท อย่างสอดคล้องกับผลิตภาพและประสิทธิภาพของบุคลากร รวมทั้งมีมาตรการเพื่อลดภาระแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้แรงงานและบุคลากรสามารถดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องหารายได้เพิ่มจากการทำงานหนัก ต้องทำงานล่วงเวลาจนขาดคุณภาพชีวิต

ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีพัฒนาการด้านค่าจ้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำจึงเป็นกฎหมายสำคัญที่ให้สิทธิแก่ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ให้มาร่วมพิจารณาเสนอความเห็นโดยมีผู้แทนฝ่ายภาครัฐคอยสนับสนุน ในรูปแบบไตรภาคีสามฝ่ายเพื่อคุ้มครองแรงงานและการแรงงานสัมพันธ์ 

จนมาถึงแนวคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 18 ในปัจจุบันซึ่งจะให้ความหมายของค่าจ้างขั้นต่ำว่า หมายถึงอัตราค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ (แรงงานไร้ฝีมือ) 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่สภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยมีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น

จึงเป็นที่มาของแนวทางการพิจารณาปรับปรุงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในหลักเกณฑ์สำหรับ 3 กลุ่มคือ ด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง เช่น ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ และราคาของสินค้า ด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ได้แก่ ต้นทุนการผลิต ความสามารถของธุรกิจ และผลิตภาพแรงงาน  และด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพเศรษฐกิจ และสังคม

จึงเป็นที่มาของนโยบายให้แรงงานมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท โดยการสำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือในภาคอุตสาหกรรมปี 2554 ครั้งที่ 2 เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดปี 2555 ซึ่งปลัดกระทรวงแรงงานสั่งการให้ดำเนินการเสร็จสิ้นในเดือนกันยายน 2554 แล้ว

และมีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษานโยบายการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท แล้วเสนอแนวทางการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา เมื่อได้ข้อยุติจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จังหวัด/กทม.แล้ว จะนำเสนอคณะอนุกรรมการวิชาการกลั่นกรองเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทั่วประเทศปี 2555 ต่อไป

ส่วนมาตรการลดผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการนั้นจะต้องพิจารณาจากระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ขีดความสามารถในการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อแข่งขันกับนานาประเทศโดยมีมาตรการทีพิจารณาแล้วหลายประการโดยเฉพาะสถานประกอบการเอสเอ็มอี เช่นมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ30 เหลือร้อยละ 20 ภายใน 2 ปี โดยในปี 2555 ลดลงร้อยละ 7 เหลือร้อยละ 23 ในปี 2556 ลดลงอีกร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 20 ตามเป้าหมายในที่สุด มาตรการต่อไปคือพักหนี้สินเชื่อวงเงินต่ำกว่า 500,000 บาท

มาตรการให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้นายจ้างกู้ยืมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพสูงขึ้น มาตรการให้สถานประกอบการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยกระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง และยังมีกองทุนกู้ยืมสำหรับผู้ประกอบการเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนฉุกเฉิน (โอดี เครดิต) ดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ยเพื่อให้ผู้ประกอบการนำมาใช้ในการซื้อวัตถุดิบ หรือพัฒนาเครื่องจักร เครื่องมือ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

ในส่วนของกระทรวงแรงงานเองได้กำหนดให้ปี 2555 – 2556 เป็นปีแห่งการเพิ่มผลผลิตภาพแรงงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน และพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ  สุดท้ายการที่แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นจะช่วยให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ผู้ประกอบการขายสินค้าได้มากขึ้นจากอุปสงค์อุปทานที่สอดคล้อง ผลิตภาพสินค้าก็เพิ่มขึ้นเป็นผลดีต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

ดร.วิไลลักษณ์ สกุลภักดี ประธาน บริษัท เอสวีพี กรุ๊ป (SPV. Group) ให้ความเห็นว่าทางออกของนโยบายการปรับค่าจ้างนั้นควรยึดหลัก ซีคิวดี (CQD : Cost-ต้นทุนต่ำ/ Quality-คุณภาพดี/ Delivery-ส่งมอบเร็ว) ซึ่งจะเป็นหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้เลยทันที ไม่ต้องรอนโยบายช่วยเหลือจากรัฐบาลเพราะหลักการเหล่านี้จะทำให้มีการยึดหลักการที่ต้นทุนคงที่ หรือต้นทุนต่ำเทียบเท่าคู่แข่งขัน มีสินค้าคุณภาพดี และการส่งมอบตรงเวลา รวดเร็ว ประหยัดเวลา

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เสนอว่าตัวเลขคาดหมายค่าจ้างที่อยู่บนพื้นฐานศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ควรอยู่ที่วันละ 345 บาท มีหลักการจากการทำงานวันละ 8 ชั่วโมงในงานปกติ และ 7 ชั่วโมงในงานอันตราย เมื่อรัฐบาลมีนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ  300 บาท ก็ต้องมีกลไกควบคุมดูแลค่าครองชีพไม่ให้สูงขึ้นด้วย และไม่ควรมีสองมาตรฐานในพื้นที่ใกล้เคียงกันแต่กลับมีอัตราค่าจ้างแตกต่างกัน

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก เห็นว่าประเด็นการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องใกล้เคียงกัน ซึ่งนายจ้างต้องได้รับผลกระทบด้านต้นทุนสูงขึ้นแน่นอน และเห็นด้วยกับแนวคิดไม่ควรรอรัฐบาล นายจ้างกับลูกจ้างต้องคุยกันว่าจะต้องทำอย่างไรในการลดต้นทุน แต่ขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายต่างอยู่ได้และอยู่รอด แต่เมื่อรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายนี้เราก็ต้องหวังพึ่งพาจากนโยบายนี้ เมื่อนโยบายส่งผลกระทบ และหากนายจ้างและลูกจ้างอยู่ไม่รอดก็ต้องส่งผลต่อรัฐบาลไปในแนวทางเดียวกันเช่นกัน