เนื้อหาวันที่ : 2007-04-17 09:18:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1583 views

กพช. เห็นชอบแผน PDP 2007 เน้นการกระจายแหล่งเชื้อเพลิง

การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแผนจัดหาก๊าซของ ปตท. เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติตามแผน PDP ใหม่ พร้อมพิจารณาก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

กพช. เห็นชอบแผน PDP 2007 เน้นการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า พร้อมทั้งเห็นชอบแผนจัดหาก๊าซของ ปตท. เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติตามแผน PDP ใหม่ นอกจากนี้ กพช. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำเงี๊ยบ ใน สปป.ลาว ซึ่งนับเป็นโครงการที่ 7 ที่ไทยจะรับซื้อไฟฟ้าจากลาว และอนุมัติให้มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยวิธีให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder)    

.

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมวันนี้ (วันที่ 9 เมษายน 2550) มีมติเห็นชอบในหลักการแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2007) ในช่วงปี 2550-2564 แบ่งเป็นช่วงแรกหรือตั้งแต่ปี 2550-2553 จะมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างไว้แล้ว ส่วนในช่วงระหว่างปี 2554-2564 ที่จะต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ จากแผนทางเลือกทั้งหมด 9 แผน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกำหนดให้แผน B2 ในกรณีฐาน เป็นแผนหลักของการจัดทำ PDP 2007  พิจารณาจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีความเป็นไปได้ จำนวน 2,800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติจำนวน 18,200 เมกะวัตต์ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จำนวน 4,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563-2564 นอกจากนี้ กำหนดให้แผน B3 ตามกรณีฐาน เป็นแผนทางเลือกของการจัดทำแผน PDP ที่จะมีการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จำนวน 10 ล้านตันต่อปี และรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น 

.

การประชุม กพช. ยังได้เห็นชอบในหลักการแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ในช่วงปี 2550-2553 เป็นแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมจาก อ่าวไทยขนผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 3 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 80 ของการจัดหาทั้งหมด และอีกร้อยละ 20 เป็นการนำเข้าจากสหภาพพม่า ส่วนในช่วงที่สอง ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้น ปตท. มีแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากแหล่งต่างๆ ในภูมิภาค ได้แก่ สหภาพพม่า อินโดนีเซีย และในอ่าวไทยจากแหล่งไพลินเพิ่มเติม ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ ปตท. ไปจัดทำรายละเอียดและนำกลับมาเสนอต่อ กพช. ครั้งต่อไป   

.

การประชุม กพช. ครั้งนี้ ยังได้เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการน้ำเงี้ยบ กำลังผลิต 261 เมกะวัตต์ และเห็นชอบให้ กฟผ. นำร่าง ฯ ดังกล่าวไปลงนามร่วมกับกลุ่มผู้ลงทุนโครงการน้ำเงี้ยบ ต่อไป ซึ่งนับเป็นโครงการที่ 7 ใน สปป.ลาว ที่จะจ่ายพลังงานไฟฟ้าเข้าระบบให้กับประเทศไทยปีละ 1,393 ล้านหน่วย ภายในปี 2557 โดยมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดอายุโครงการ 27 ปี อยู่ที่ระดับ 2.13 บาทต่อหน่วย (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญสหรัฐ = 36 บาท)

..

สำหรับรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ลงนามขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จาก 3,000 เมกะวัตต์ เป็น 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2558 ปัจจุบันมีโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเทิน-หินบุน กำลังผลิต 187 เมกะวัตต์ และโครงการห้วยเฮาะ กำลังผลิต 126 เมกะวัตต์ และอีก 2 โครงการเป็นโครงการที่ได้ลงนามซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 2 ขนาดกำลังผลิต 920 เมกะวัตต์ และโครงการน้ำงึม 2 ขนาดกำลังผลิต 615 เมกะวัตต์ นอกจากนี้มีโครงการที่มีการตกลงราคาซื้อขายไฟฟ้าแล้วและอยู่ระหว่างพิจารณาร่างสัญญา ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 1 กำลังผลิต 523 เมกะวัตต์ และโครงการน้ำงึม 3 กำลังผลิต 440 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการน้ำเงี๊ยบ กำลังผลิต 261 เมกะวัตต์ นับเป็นโครงการที่ 7  

.

นอกจากนี้ การประชุม กพช. เห็นชอบการกำหนดส่วนเพิ่ม (Adder) ราคารับซื้อไฟฟ้าให้ในอัตราคงที่เป็นระยะเวลา 7 ปี สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ เชื้อเพลิงขยะ และพลังงานลม จะได้ส่วนเพิ่ม 2.50 บาทต่อหน่วย  และแสงอาทิตย์ ได้รับส่วนเพิ่ม 8 บาทต่อหน่วย ส่วน SPP พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ เช่น แกลบ เศษไม้ ก๊าซชีวมวล จะใช้วิธีเปิดประมูลแข่งขัน โดยให้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นผู้ประกาศและดำเนินการคัดเลือก จากผู้ที่ขอส่วนเพิ่มอัตราต่ำสุดก่อนแต่สูงสุดไม่เกิน 0.30 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปีเช่นกัน   

.

ทั้งนี้ ภาครัฐตั้งเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน จำนวน 530 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ผู้ผลิตไฟฟ้าจากขยะ จำนวน 100 เมกะวัตต์ พลังงานลม จำนวน 115 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 15 เมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่น ๆ เช่น แกลบ เศษไม้ ขยะ พลังน้ำ กำหนดปริมาณพลังไฟฟ้าที่จะรับซื้อรวม 300 เมกะวัตต์