เนื้อหาวันที่ : 2007-04-17 08:22:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1887 views

โรงไฟฟ้าจ่อขาย "คาร์บอนเครดิต" มิตรผลประเดิมรายแรก

เริ่มแล้วการซื้อขาย "คาร์บอนเครดิต" ในประเทศไทย หลังคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM EB) ที่เยอรมนี "อนุมัติ" 3 โครงการโรงไฟฟ้า ไบโอพาวเวอร์/พิจิตร-ไบโอเอ็นเนอร์ยี่/ภูเขียว-ไบโอเอ็นเนอร์ยี่/ด่านช้าง เข้าจดทะเบียนรับรองมีการลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง

เริ่มแล้วการซื้อขาย "คาร์บอนเครดิต" ในประเทศไทย หลังคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM EB) ที่เยอรมนี "อนุมัติ" 3 โครงการโรงไฟฟ้า ไบโอพาวเวอร์/พิจิตร-ไบโอเอ็นเนอร์ยี่/ภูเขียว-ไบโอเอ็นเนอร์ยี่/ด่านช้าง เข้าจดทะเบียนรับรองมีการลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง ขณะที่การเมืองภายในประเทศวุ่นวาย ทำให้ไทยพลาดโอกาสจัดประชุมใหญ่อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส้มหล่นไปตกอยู่ที่อินโดนีเซียแทน

.

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism หรือ CDM) เพื่อซื้อขาย "คาร์บอนเครดิต" ภายใต้พิธีสารเกียวโตว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบออกหนังสือรับรองแก่ผู้พัฒนาโครงการของไทย 7 โครงการ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

.

ขณะนี้ทางคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Executive Board of Clean Development Mechanism หรือ CDM EB) ที่ประจำอยู่เยอรมนี ได้พิจารณาและอนุมัติให้มีการจดทะเบียนเป็นโครงการที่สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยได้แล้ว 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการผลิตไฟฟ้าจากแกลบของบริษัท เอที ไบโอพาวเวอร์ จ.พิจิตร 2) โครงการผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อยและใบอ้อยของ บริษัท ด่านช้าง ไบโอ-เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จ.สุพรรณบุรี และ 3) โครงการผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อยและใบอ้อยของบริษัทภูเขียว ไบโอ-เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จ.ชัยภูมิ

.

"การที่ทั้ง 3 โครงการได้จดทะเบียนกับ CDM EB ไว้แล้วถือว่า โครงการได้เดินมาครึ่งทางแล้ว โดยกระบวนการต่อจากนี้ไปก็คือจะต้องมีหน่วยงานที่ 3 มาตรวจสอบทั้ง 3 โครงการอีกครั้งว่า เป็นโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริงหรือไม่ และลดได้เท่าใด หลังจากผลตรวจสอบผ่านแล้วก็จะส่งเรื่องให้ CDM EB พิจารณารับรองอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นเอกชนที่ทำโครงการก็สามารถดำเนินการซื้อขายคาร์บอนกับประเทศพัฒนาแล้วที่ได้มีการเจรจาตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้นได้" แหล่งข่าวกล่าว

.

ส่วนอีก 4 โครงการที่เหลือ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อยของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จ.ขอนแก่น, โครงการผลิตไฟฟ้าจากเศษไม้ยางพาราของบริษัทรับเบอร์ วูด, โครงการผลิตไฟฟ้าของบริษัทกัลฟ์ยะลากรีน จำกัด จ.ยะลา, โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังของบริษัทโคราชเวสท์ทูเอ็นเนอร์ยี่ จ.นครราชสีมา และโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากน้ำเสียฟาร์มสุกรของโครงการฟาร์มหมูราชบุรี กำลังส่งเรื่องไปยัง CDM EB ให้พิจารณาอนุมัติอยู่

.

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของการซื้อขาย "คาร์บอนเครดิต" ปัจจุบันมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ ราคาการซื้อขายเครดิตคาร์บอน จากปี 2549 ที่มีการซื้อขายกันอยู่ประมาณ 10 ยูโร/ตันคาร์บอน ขณะนี้ลดลงเหลือเพียง 1.2-1.5 ยูโร/ตันคาร์บอน ถ้าหากผู้ประกอบการไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตไว้ล่วงหน้าแล้วมาซื้อขายกันในช่วงนี้ "อาจจะลำบากหน่อย"

.

อัตราผลตอบแทนที่ได้รับจะไม่คุ้มกับการลงทุน ส่วนสาเหตุที่ราคาคาร์บอนเครดิตต่ำลงเป็นเพราะส่วนหนึ่งประเทศพัฒนาแล้วดำเนินการปรับปรุงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองด้วยการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซภายในประเทศตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเทศกำลังพัฒนาต่างก็ตื่นตัวและพัฒนาโครงการ CDM เพื่อซื้อขายคาร์บอนเครดิตกันมากขึ้น จากการสำรวจตัวเลขในปัจจุบันมีถึง 300 โครงการที่ซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้แล้ว "เมื่อปริมาณคาร์บอนเครดิตที่เสนอขายมีมากขึ้น ราคาก็ย่อมตกลงเป็นธรรมดา"

.

ด้านนายเรืองฤทธิ์ จันทเสน วิศวกรประจำสำนักกรรมการผู้จัดการ บริษัทภูเขียว ไบโอ-เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของบริษัท ภูเขียว ไบโอ เอ็นเนอร์ยี่ กับบริษัทด่านช้าง ไบโอ เอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มน้ำตาลมิตรผล ได้รับการอนุมัติความพร้อมในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต กับ จ่ายค่าจดทะเบียนให้ CDM EB แล้วคาดว่าหลังจากนี้อีก 8 สัปดาห์ กระบวนการต่างๆ น่าจะเสร็จสิ้น บริษัทสามารถดำเนินการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ โดยขณะนี้ก็ได้มีการติดต่อกับประเทศพัฒนาต่างๆ ไว้หลายประเทศแล้ว

.

สำหรับเรื่องของราคาคาร์บอนเครดิตที่ลดลงนั้น นายเรืองฤทธิ์กล่าวว่า บริษัทไม่มีความกังวลที่ราคาคาร์บอนเครดิตลดลงเป็นเพราะกำลังอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นทดลองโครงการ ประกอบกับประเทศพัฒนาต่างๆ ยังไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของพิธีสารเกียวโตที่บังคับให้แต่ละประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป แต่ถ้าถึงตอนนั้นแล้ว ประเทศพัฒนาแล้วไม่ยอมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะต้องเสียค่าปรับ "ความต้องการคาร์บอนเครดิตก็จะมีเพิ่มขึ้น ราคาอาจจะไต่ระดับไปถึง 20 ยูโร/ตันคาร์บอน แล้วเราค่อยขาย" นายเรืองฤทธิ์กล่าว

.

ทั้งนี้พิธีสารเกียวโต หรือ Kyoto Protrocol อยู่ภายใต้ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี 2548 โดยประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นสมาชิกในกลุ่มบัญชี 1 (Annex 1) มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี 2551-2555 ให้ได้ร้อยละ 5.2 จากปริมาณการปล่อยปี 2533

.

โดยในระยะเวลาดังกล่าวประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นสมาชิกที่อยู่นอกกลุ่มบัญชี 1 (Non-Annex 1) สามารถดำเนินการโดยสมัครใจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงก็ได้ โดยผ่านกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism หรือ CDM) ที่เปิดโอกาสให้ ประเทศพัฒนาแล้วเข้ามาดำเนินการลดหรือเลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนา และนำปริมาณก๊าซที่ลดได้ไปใช้เป็น "เครดิต" ไม่ต้องไปดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศของตนเองลง

.

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียใจว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา (Conference of The Parties หรือ COP) ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ในช่วงปลายปี 2550 แล้ว

.

เนื่องจากประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ส่งผลให้ประเทศสมาชิกตัดสินใจที่จะไปประชุม COP สมัยที่ 13 รอบที่ 3 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย แทน โดยประเด็นหลักๆ ที่จะมีการหารือคือการกำหนดพันธกรณีกลไกทางการเงิน การถ่ายโอนเทคโนโลยี และการให้การศึกษา

.

แต่ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมใหญ่แต่ไทยก็ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยภาวการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระหว่างวันที่ 30 เมษายน-4 พฤษภาคม 2550 ซึ่งการประชุมของนักวิทยาศาสตร์ที่จะมารายงานการประเมินสถานการณ์ของโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้ การกำหนดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ การปรับตัวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 400 คน

.

ด้านนายจิรพล สินธุนาวา อุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโลกได้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การขนส่ง การบริโภค ส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน, ไนตรัสออกไซด์ ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งก๊าซดังกล่าวมีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน (อินฟราเรด) จากดาวอาทิตย์ เมื่อก๊าซเรือนกระจกมีจำนวนมากขึ้น ก็เท่ากับทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นตามไปด้วย นำไปสู่ "ภาวะโลกร้อน" ที่จะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไป

.

ตัวอย่างของผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่เกิดในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก อาทิ อุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงถึงขนาดภายใน 1 วัน คนอินเดียเสียชีวิตไป 2,000 คน, น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นท่วมชายฝั่งทะเล, น้ำแข็งขั้วโลกละลาย, เกิดการแพร่ระบาดของโรคหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมาลาเรีย หรือ ไข้หวัดนก ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไปส่งผลต่อระบบนิเวศ เกิดการฟอกขาวของปะการัง ฝน/หิมะตกหนัก และเกิดน้ำท่วมรุนแรง เป็นต้น

.

สำหรับประเทศไทยสถานการณ์ความเดือดร้อนของประชาชนใน 2 ปีที่ผ่านมานี้ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนได้อย่างชัดเจนแล้ว กล่าวคือ ปี 2548 เกิดปรากฏการณ์ "เอล นีโญ" เป็นภาวะแห้งแล้งผิดธรรมชาติเกิดขึ้นกว่า 65 จังหวัด พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายกว่า 10 ล้านไร่ ในขณะที่ปี 2549 กลับเกิดปรากฏการณ์ "ลา นีญา" ปริมาณฝนตกหนักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เกิดน้ำท่วมหนัก ดินถล่มรุนแรงทั่วประเทศ ความเสียหายกว่า 1 พันล้านบาท

.

"นับจากนี้ผมคิดว่าประชาชนทุกคนจะต้องตระหนักถึงปัญหาของภาวะโลกร้อนที่จะรุนแรงขึ้น หากไม่ดูแลแก้ไข ลดเลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่เป็นตัวการหลักตัวหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะต้องคิดหาการผลิตแนวใหม่ ปรับปรุงการผลิต ใช้เทคโนโลยีสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือน้อยที่สุด แม้ว่าต้นทุนในส่วนนี้จะสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับการยับยั้งไม่ให้ความเสียหายมันเกิดขึ้นในอนาคต ผมก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่คุ้มค่าในการกระทำ" นายจิรพลกล่าว

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ