เนื้อหาวันที่ : 2011-09-29 10:36:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1707 views

คาดศก.ปี 54 เติบโตต่ำกว่าคาดเอกชนบริโภคลดลง

สศค.เผยเศรษฐกิจปี 54 อ่วมเจอปัญหาหลายด้าน ส่อเค้าเติบโตลดลงอยู่ที่ 4.0% ขณะที่การลงทุนยังขยายตัวต่อเนื่อง

          สศค.เผยเศรษฐกิจปี 54 อ่วมเจอปัญหาหลายด้าน ส่อเค้าเติบโตลดลงอยู่ที่ 4.0% ขณะที่การลงทุนยังขยายตัวต่อเนื่อง

          รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2554 และ 2555“เศรษฐกิจไทยปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าคาด แต่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2555”

          นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนกันยายน 2554 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8 – 4.3 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าตามอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะชะลอลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะยังคงขยายตัวในระดับสูง เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการที่สูงเกินคาดในช่วงครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และการจ้างงานในสหรัฐฯ และปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรป ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มอุปสงค์โลกที่อาจชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด และส่งผลกระทบให้ภาคการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2554 ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ภายหลังจากที่ชะลอลงเนื่องจากได้รับผลกระทบของภัยพิบัติในญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2554

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 – 4.1) เร่งตัวขึ้นจากทั้งต้นทุนในหมวดอาหารสดที่ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่สูงและอากาศแปรปรวน และต้นทุนในหมวดพลังงานที่เร่งขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นสำคัญ

          สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2555 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 – 5.0) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ ตามการจ้างงานที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง และนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการใช้จ่าย เช่น มาตรการปรับเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ

ขณะที่แรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ แม้ว่าจะยังคงได้รับความเสี่ยงจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.8 – 3.8) ตามอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะชะลอลง” 
 
          รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2554 และ 2555
          1. เศรษฐกิจไทยในปี 2554
          1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
          เศรษฐกิจไทยในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8 – 4.3 ซึ่งเป็นการขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนหน้าตามอุปสงค์ภายในประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8 – 4.8) ชะลอลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและต้นทุนที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ดี ภาวะการจ้างงานและรายได้ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในส่วนของรายได้เกษตรกรที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นตามราคาพืชผลสำคัญ รวมถึงรายได้จากภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวในระดับสูง คาดว่าจะยังคงมีส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัวได้

ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2554 คาดว่าจะยังคงขยายตัวในระดับสูง ที่ร้อยละ 13.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.7 – 13.7) เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการที่สูงเกินคาดในช่วงครึ่งปีแรก โดยขยายตัวสูงถึง ร้อยละ 13.9

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และการจ้างงานในสหรัฐฯ และปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรป ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มอุปสงค์โลกที่อาจชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด และส่งผลกระทบให้ภาคการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2554 ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อน

ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 15.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 14.5 – 15.5) ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ ร้อยละ 10.8 – 11.8) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งตัวขึ้นอย่างมากของการลงทุนภาคเอกชนในครึ่งแรกของปี 2554 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10.5

ประกอบกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อขยายกำลังการผลิตให้สามารถรองรับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐในปี 2554 คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 2.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 – 3.2) ชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า เนื่องจากความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2555 จะส่งผลให้การเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เป็นไปอย่างล่าช้า

ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะหดตัวร้อยละ -1.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.9 ถึง –0.9) เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีการเบิกจ่ายชะลอตัวลงมาก โดยเฉพาะจากรัฐบาลท้องถิ่นที่หดตัวกว่าร้อยละ -35.2 ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกการลงทุนภาครัฐหดตัวกว่าร้อยละ -5.9

          1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
          เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ ร้อยละ 3.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 – 4.1 ต่อปี) จากต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในหมวดอาหารสดที่ได้รับแรงกกดดันจากต้นทุนการผลิตที่สูงและอากาศแปรปรวน และต้นทุนในหมวดพลังงานที่เร่งขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นสำคัญ

ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.6 – 0.8 ของกำลังแรงงานรวม) ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 13.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 – 4.0 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 8.5 – 10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ)

โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2554 จะขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 26.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 26.1 – 27.1) ตามราคาสินค้านำเข้าในตลาดโลก ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 22.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 21.8 – 22.8)

          2. เศรษฐกิจไทยในปี 2555
          2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
          เศรษฐกิจไทยในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 4.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 – 5.0 ซึ่งได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.9 – 4.9) ตามการจ้างงานที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการใช้จ่าย เช่น มาตรการปรับเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.9 – 11.9)

โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์จากภายในประเทศและต่างประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและสนับสนุนให้การลงทุนของเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ แรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการในปี 2555 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ต่างประเทศยังคงได้รับความเสี่ยงจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้การส่งออกสินค้าและบริการในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 – 6.5) ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.3 – 11.3)

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐในปี 2555 คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัว ร้อยละ 2.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 – 3.3) ตามการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของรัฐบาลในปี 2555 ที่คาดว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 – 6.5)

          2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
          เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.8 – 3.8) ชะลอลงจากปี 2554 อันเป็นผลจากความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่คาดว่าจะส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกชะลอลง

ประกอบกับแนวโน้มการชะลอตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ทั้งนี้ การประมาณการเศรษฐกิจได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะพิจารณาต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพบางส่วนออกไปอีกหลังครบกำหนด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.6 – 0.8 ของกำลังแรงงานรวม)

ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 9.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.2 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.7 – 2.7 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 6.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 5.0 – 7.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 15.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 14.8 – 16.7) ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 13.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.7 – 14.7)