เนื้อหาวันที่ : 2011-09-27 14:31:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1083 views

ดัชนีอุตฯ ร่วง เอกชนแนะชัดเจนการปรับค่าจ้าง

ส.อ.ท. เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. วูบ เหตุออร์เดอร์ ยอดขาย ปริมาณการผลิต ผลประกอบการร่วง แนะรัฐสร้างความชัดเจนการปรับอัตราค่าจ้าง

          ส.อ.ท. เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. วูบ เหตุออร์เดอร์ ยอดขาย ปริมาณการผลิต ผลประกอบการร่วง แนะรัฐสร้างความชัดเจนการปรับอัตราค่าจ้าง

          นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนสิงหาคม จำนวน 1,105 ราย ครอบคลุม 40 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในสิงหาคม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 102.5 ปรับลดลงจากระดับ 105.2 ในเดือนกรกฎาคม ค่าดัชนีที่ปรับลดลงเกิดจากองค์ประกอบของดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับลดลงของค่าดัชนีในเดือนสิงหาคม ได้แก่ ความกังวลต่อต้นทุนการผลิต อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ตลอดจน ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

          สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.4 ในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

          ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนสิงหาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงจากเดือนกรกฎาคม โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม มีดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับ 95.6 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 96.0 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์ประเภทหินอ่อน หินลาย มียอดขายในประเทศลดลง,แผ่นหินแกรนิตมียอดสั่งซื้อจากประเทศลาว พม่า และกัมพูชาลดลง), อุตสาหกรรมยา,อุตสาหกรรมสมุนไพร (ยอดคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสมุนไพรไทยไปประเทศยุโรป และอเมริกาลดลง) และหัตถอุตสาหกรรม(ผลิตภัณฑ์ประเภท เครื่องปั้นดินเผา ดอกไม้ประดิษฐ์ และของที่ระลึกมียอดคำสั่งซื้อสินค้า จากประเทศอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป และตะวันออกกลางลดลง, ยอดขายในประเทศลดลงจากสินค้าประเภท เครื่องปั้นดินเผา จักรสานลดลง) ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.0 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ และค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

          อุตสาหกรรมขนาดกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 102.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 104.3 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง (ผลิตภัณฑ์ประเภทหนังแท้ มียอดคำสั่งซื้อในประเทศอินเดีย และบังคลาเทศลดลง),

อุตสาหกรรมรองเท้า (ผลิตภัณฑ์ประเภท รองเท้ากีฬา รองเท้าอื่นๆ และส่วนประกอบรองเท้ามียอดคำสั่งซื้อจากประเทศเดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ลดลง, ยอดขายรองเท้าหนังแท้ ในประเทศลดลง), อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (ยอดขายกระเบื้องหลังคาในประเทศลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน ส่งผลให้การก่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัยชะลอตัว), อุตสาหกรรมแก้วและกระจก (กระจกเงาและกระจกเคลือบสีมียอดขายในประเทศและต่างประเทศ เช่น อเมริกาและญี่ปุ่นลดลง,

แก้วเจียระไนและขวดแก้วขึ้นรูป มียอดการส่งออกไปประเทศอเมริกาและยุโรปลดลง), อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ไม้ยางพารามียอดขายในประเทศลดลง และอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ (ยอดคำสั่งซื้อป้ายพิมพ์โฆษณาในประเทศลดลง,ยอดขายกล่องกระดาษ และกระดาษลูกฟูกในประเทศลดลง, ยอดคำสั่งซื้อกล่องกระดาษ และสิ่งพิมพ์จากประเทศมาเลเซีย,ลาว และพม่าลดลง) อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

          ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 106.7 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ และการที่ค่าดัชนี อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

          และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 108.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 114.9 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก (ยอดคำสั่งซื้อเหล็กที่เป็นส่วนประกอบใน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลง), อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม(เนื่องจากมีปริมาณการใช้พลังงานทดแทน เช่น ก๊าซ LPG เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้การใช้น้ำมันลดลง) และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (เม็ดพลาสติกมียอดขายในประเทศและต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่นลดลง, เส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ มียอดคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศอาเซียน) อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

          ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 112.5 ปรับลดลงจากระดับ 114.2 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนียังอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

          ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค ประจำเดือนสิงหาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวลดลง ในขณะที่ภาคใต้ มีค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม

          ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 100.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 102.2 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับลดลงของค่าดัชนี คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ราคาวัตถุดิบ และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น การแข็งค่าของเงินบาท ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนียังอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนั(ผลิตภัณฑ์ประเภทหนังแท้ มียอดคำสั่งซื้อในประเทศอินเดีย และบังคลาเทศลดลง), อุตสาหกรรมรองเท้า (ผลิตภัณฑ์ประเภท รองเท้ากีฬา รองเท้าอื่นๆ และส่วนประกอบรองเท้ามียอดคำสั่งซื้อจากประเทศเดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรลดลง, ยอดขายรองเท้าหนังแท้ ในประเทศลดลง), อุตสาหกรรมเหล็ก (ยอดคำสั่งซื้อเหล็กที่เป็นส่วนประกอบใน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลง), อุตสาหกรรมแก้วและกระจก (กระจกเงาและกระจกเคลือบสี มียอดขายในประเทศและต่างประเทศ เช่น อเมริกา และญี่ปุ่นลดลง,

แก้วเจียระไนและขวดแก้วขึ้นรูป มียอดการส่งออกไปประเทศอเมริกาและยุโรปลดลง) และอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ (ยอดคำสั่งซื้อป้ายพิมพ์โฆษณาในประเทศลดลง,ยอดขายกล่องกระดาษ และกระดาษลูกฟูกในประเทศลดลง, ยอดคำสั่งซื้อกล่องกระดาษ และสิ่งพิมพ์จากประเทศมาเลเซีย,ลาว และพม่าลดลง)

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.7 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ้มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

          ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 104.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 108.7 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ จากสภาพอากาศแปรปรวน มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาค ขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตมีการปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การปรับอัตราดอกเบี้ย และการแข็งค่าของเงินบาท เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนียังอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าผืน มียอดขายลดลงในประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลีย, ขาดแคลนวัตถุดิบประเภท ฝ้ายและเส้นด้าย เนื่องจากแหล่งผลิตในภาคเหนือประสบภัยน้ำท่วม), อุตสาหกรรมยา, อุตสาหกรรมสมุนไพร (ยอดคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสมุนไพรไทยไปประเทศยุโรป และอเมริกาลดลง ) และหัตถอุตสาหกรรม(ผลิตภัณฑ์ประเภท เครื่องปั้นดินเผา ดอกไม้ประดิษฐ์ และของที่ระลึกมียอดคำสั่งซื้อสินค้า จากประเทศอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป และตะวันออกกลางลดลง, ยอดขายในประเทศลดลงจากสินค้าประเภท เครื่องปั้นดินเผา จักรสานลดลง)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 111.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 110.1 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 99.9 ปรับลดลงจากระดับ 106.6 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ การปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนการผลิต และผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในหลายพื้นที่ของภาค

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์ประเภทหินอ่อน หินลาย มียอดขายในประเทศลดลง, แผ่นหินแกรนิตมียอดสั่งซื้อจากประเทศ ลาว พม่า และกัมพูชาลดลง) และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (ผลิตภัณฑ์ประเภทชิ้นส่วนเครื่องจักรการเกษตรมียอดขายในประเทศลดลง,

ยอดขายรถสำหรับการเกษตร เช่น รถไถ บด ขุดในประเทศลดลง) ค่าดัชนีที่ปรับลดลงในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 116.7 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนี อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 106.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 110.5 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ ความกังวลที่มีต่อสภาวะเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (เนื่องจากมีปริมาณการใช้พลังงานทดแทน เช่น ก๊าซ LPG เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้การใช้น้ำมันลดลง) และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (เม็ดพลาสติกมียอดขายในประเทศและต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่นลดลง,เส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ มียอดคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศอาเซียน)

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 112.5 ปรับลดลงเล็กน้อยจากระดับ 112.7 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ

          และภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 102.7 โดยปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.5 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ เศรษฐกิจในภาคใต้มีการขยายตัวดี สะท้อนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวตามรายได้ของเกษตรกรที่อยู่ในระดับสูงจากราคาสินค้าเกษตรสําคัญ ทั้งยาง ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลในเรื่องความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และภัยธรรมชาติ ค่าดัชนีที่อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่น (ไม้อัดแผ่น ไม้ปาร์เก้และไม้บางมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น,ผลิตภัณฑ์ประเภทไม้ปาร์เก้ มียอดสั่งซื้อจากประเทศจีนและอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (ปาล์มดิบราคาสูงขึ้น, ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก)

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 104.1 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ และค่าดัชนี อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

          ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลงทั้งในกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลง โดยกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 103.3 ปรับลดลงจากระดับ 104.9 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนี อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก(ยอดคำสั่งซื้อเหล็กที่เป็นส่วนประกอบใน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลง), อุตสาหกรรมแก้วและกระจก (กระจกเงาและกระจกเคลือบสี มียอดขายในประเทศและต่างประเทศ เช่น อเมริกา และญี่ปุ่นลดลง, แก้วเจียระไนและขวดแก้วขึ้นรูป มียอดการส่งออกไปประเทศอเมริกาและยุโรปลดลง), หัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์ประเภท เครื่องปั้นดินเผา ดอกไม้ประดิษฐ์ และของที่ระลึกมียอดคำสั่งซื้อสินค้า จากประเทศอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป และตะวันออกกลางลดลง, ยอดขายในประเทศลดลงจากสินค้าประเภท เครื่องปั้นดินเผา จักรสานลดลง) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (ปุ๋ยชีวภาพ และสารสกัดจากสะเดาไทยมียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง)

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 110.8 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.5 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ และค่าดัชนี อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

          และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม อยู่ที่ระดับ 98.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 106.6 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ซึ่งการที่ค่าดัชนี อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดีจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าผืน มียอดขายลดลงในประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลีย ขาดแคลนวัตถุดิบประเภท ฝ้ายและเส้นด้าย เนื่องจากแหล่งผลิตในภาคเหนือประสบภัยน้ำท่วม) อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง (ผลิตภัณฑ์ประเภทหนังแท้ มียอดคำสั่งซื้อในประเทศอินเดีย และบังคลาเทศลดลง) และอุตสาหกรรมรองเท้า (ผลิตภัณฑ์ประเภทรองเท้ากีฬา รองเท้าอื่นๆ และส่วนประกอบรองเท้ามียอดคำสั่งซื้อจากประเทศเดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร ลดลง, ยอดขายรองเท้าหนังแท้ในประเทศลดลง)

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.5 ปรับลดลงเล็กน้อยจากระดับ 106.8 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อย่างไรก็ตามค่าดัชนี อยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ดี

          สำหรับด้านสภาวะแวดล?อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจาก อัตราแลกเปลี่ยนมากที่สุด รองลงมา คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ และราคาน้ำมัน ตามลำดับ โดยพบว่าปัจจัยที่มีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ

          อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ที่มีต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ควรสร้างความชัดเจน และหาแนวทางลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน อีกทั้งเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และพัฒนาฝีมือแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ