เนื้อหาวันที่ : 2006-04-27 15:32:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1528 views

คู่เจรจาเอฟทีเอผลักดันไทยเรียกร้องให้เปิดตลาดบริการมากขึ้น

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้การเจรจาเปิดเสรีบริการในองค์การการค้าโลก มีแนวโน้มกลับเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง หลังจากสมาชิกหารือ ผลักดันให้เปิดตลาดบริการสาขาต่าง ๆ เป็นรูปธรรมมากขึ้น

นางอภิรดี  ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การเจรจาเปิดเสรีบริการในองค์การการค้าโลก (WTO) รอบปัจจุบันหรือรอบโดฮา มีแนวโน้มกลับเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง  หลังจากสมาชิกได้เปิดการเจรจาหารือขึ้นเมื่อช่วงวันที่ 27 มีนาคม ถึง 7 เมษายน 49 ณ สำนักงาน WTO นครเจนีวา ซึ่งนับเป็นการเจรจาแบบกลุ่มครั้งแรกตามมติที่ประชุมรัฐมนตรี WTO ที่ฮ่องกง เพื่อผลักดันให้การเปิดตลาดบริการสาขาต่าง ๆ มีผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ในการเจรจาครั้งนี้เป็นการหารือเกี่ยวกับข้อเรียกร้องการเปิดตลาดบริการที่สมาชิกจำนวน 20 กว่ากลุ่ม ร่วมกันยื่นต่อกลุ่มสมาชิกที่เป็นตลาดเป้าหมาย ซึ่งผลการเจรจามีแนวโน้มสามารถผลักดันให้การเจรจาบริการเดินหน้าต่อได้ และสมาชิกตกลงให้มีการหารือกันต่อ โดยจะมีการเจรจารอบพิเศษระหว่างวันที่ 15-19 พฤษภาคม 49 ซึ่งจะมีทั้งการประชุมแบบกลุ่มและแบบสองฝ่าย (1 ต่อ 1)

ไทยได้รับข้อเรียกร้องกลุ่มอย่างเป็นทางการรวม 15 ฉบับ ทั้งนี้ ประเทศคู่เจรจา FTA ของไทยที่เป็นสมาชิก WTO ส่วนใหญ่เข้าร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ยื่นข้อเรียกร้องด้วยเกือบทุกฉบับ เช่น  สหรัฐฯ สหภาพยุโรป นอร์เวย์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น บริการที่ไทยถูกเรียกร้องให้เปิดตลาดมากขึ้น ได้แก่ 1) วิชาชีพสถาปนิกและวิศวกร 2) บริการด้านกฎหมาย 3) คอมพิวเตอร์และบริการเกี่ยวเนื่อง 4) โทรคมนาคม  5) โสตทัศน์ 6) ก่อสร้าง 7) การศึกษา 8) สิ่งแวดล้อม 9) พลังงาน 10) การเงิน 11) ขนส่งทางทะเล  12) ขนส่งทางอากาศ 13) โลจิสติกส์ 14) ไปรษณีย์และจัดส่งด่วน และ 15) บริการข้ามพรมแดน ซึ่งข้อ  เรียกร้องของประเทศต่างๆดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นในการผลักดันไทยต้องยินยอมเปิดตลาดบริการให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน และหากไม่ได้ผล ก็อาจนำมาใช้เป็นข้อเรียกร้องใน FTA ต่อไป

นางอภิรดี กล่าวต่อว่า ไทยตกลงเข้าร่วมกลุ่มเพื่อเรียกร้องเพียง 2 เรื่อง คือ บริการด้านสุขภาพ และ เรื่องการอนุญาตให้คนไทยเข้าไปทำงานในต่างประเทศ เนื่องจากไทยต้องการใช้วิธีการเรียกร้องแบบสองฝ่าย ซึ่งสามารถเรียกร้องในธุรกิจและต่อประเทศที่เป็นเป้าหมายของไทยอย่างแท้จริง

สืบเนื่องจากการประชุมรัฐมนตรี WTO ที่ฮ่องกง เมื่อเดือนธันวาคม 2548 ที่ต้องการผลักดันการเจรจาใน WTO มีความคืบหน้า ในส่วนของการเจรจาเรื่องบริการปฏิญญารัฐมนตรีได้กำหนดให้นำการเจรจาแบบกลุ่ม (plurilateral approach) มาใช้เสริมการเจรจาแบบสองฝ่าย (bilateral request-offer approach) การเจรจาแบบกลุ่มยังคงใช้รูปแบบการยื่น request-offer เช่นเดิม คือ สมาชิกใดสนใจให้สมาชิกอื่นเปิดตลาดให้ตนในบริการใด ก็ให้ยื่นข้อเรียกร้อง (request) ต่อผู้นั้น และสมาชิกที่ได้รับข้อเรียกร้องก็ต้องนำข้อเรียกร้องไปพิจารณาในการจัดทำข้อเสนอเปิดตลาด (offer) ของตนต่อไป การเจรจาแบบกลุ่มต่างจากการเจรจาสองฝ่าย คือ สมาชิกที่มีความสนใจร่วมกันจะรวมกลุ่มและจัดทำข้อเรียกร้องของกลุ่มเพื่อยื่นให้กลุ่มประเทศเป้าหมาย จากนั้นกลุ่มประเทศที่เรียกร้องและกลุ่มประเทศเป้าหมายจะมีการเจรจากัน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาแบบกลุ่มหรือแบบสองฝ่ายก็ตาม สมาชิก WTO ทุกประเทศต้องได้รับการเปิดตลาดอย่างเท่าเทียมกัน