เนื้อหาวันที่ : 2011-09-26 11:49:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1411 views

8 เดือนยอดใช้เบนซินหด ปชช.หันใช้พลังงานทดแทน

กรมธุรกิจพลังงาน เผยยอดใช้เบนซินส.ค. เพิ่มขึ้นหลังราคาลดกว่า 7 บาทต่อลิตร พร้อมยืดเวลาใช้ บี4 อีก 1 เดือนมั่นใจไม่กระทบปริมาณน้ำมันปาล์ม

          กรมธุรกิจพลังงาน เผยยอดใช้เบนซินส.ค. เพิ่มขึ้นหลังราคาลดกว่า 7 บาทต่อลิตร พร้อมยืดเวลาใช้ บี4 อีก 1 เดือนมั่นใจไม่กระทบปริมาณน้ำมันปาล์ม

          กรมธุรกิจพลังงานเผยยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเดือนสิงหาคม 2554 และผลตรวจสต๊อคน้ำมัน คงเหลือ รวมทั้งยืนยันการใช้น้ำมันดีเซลบี 4

          นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์เดือนสิงหาคม 2554 ว่าหลังจากรัฐบาลได้ปรับลดเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลงเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2554 ทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซิน 91, 95 และน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลง 7.17 บาท/ลิตร, 8.02 บาท/ลิตร และ 3.00 บาท/ลิตร ตามลำดับ ส่งผลให้การใช้น้ำมันเบนซิน 91 และ 95 ในช่วงดังกล่าวปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

ในขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ปรับตัวลดลง ส่วนแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 ไม่ได้รับผลกระทบ การใช้ยังคงอยู่ที่ 0.7 ล้านลิตร/วัน และ 0.029 ล้านลิตร/วัน โดยในเดือนสิงหาคม 2554 การใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 4% อยู่ที่ 20.5 ล้านลิตรต่อวัน โดยมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

          เบนซิน 91, 95 การใช้เพิ่มขึ้น 19% จาก 7.2 ล้านลิตร/วัน เป็น 8.6 ล้านลิตร/วัน
          แก๊สโซฮอล์ 91, 95 การใช้ลดลง 6% จาก 11.8 ล้านลิตร/วัน เหลือ 11.2 ล้านลิตร/วัน

          อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลได้ปรับลดการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลง ทำให้ปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 91, 95 กับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 มีส่วนต่างเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.23-2.28 บาท/ลิตร เป็น 3.09-3.95 บาท/ลิตร ทำให้การใช้น้ำมันเบนซิน 91, 95 ในเดือนกันยายน (1-13) มีการใช้ลดลงอยู่ที่ 10 ล้านลิตร/วัน หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 15 ล้านลิตร/วัน ในช่วงก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม 2554

          การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว อยู่ที่ 49.3 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนก่อน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพายุ “นกเต็น” ในช่วงต้นเดือนและร่องมรสุมพาดผ่านตลอดเดือนส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนองและหลายพื้นที่ทั่วประเทศประสบภัยน้ำท่วม ประกอบกับราคาปรับลดลงไม่มากนัก ในขณะที่การใช้ NGV อยู่ที่ 6.9 ล้านกิโลกรัม/วัน เพิ่มขึ้น 2.4% โดย ณ สิ้นเดือนสิงหาคมมีรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ NGV 283,431 คัน และมีสถานีบริการทั้งหมด 421 แห่ง

          ส่วนการใช้ LPG เพิ่มขึ้นจาก 1.2% จาก 562,600 ตัน/เดือน หรือ 18,200 ตัน/วัน มาอยู่ที่ 569,500 ตัน/เดือน หรือ 18,370 ตัน/วัน โดยเป็นผลมาจากการใช้ในภาคครัวเรือน 238,400 ตัน/เดือน หรือ 7,700 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 5.6% และภาคขนส่ง 89,300 ตัน/เดือน หรือ 2,900 ตัน/วัน เพิ่มขึ้น 2.1% ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี ลดลง 3.4% และ 2.8% ตามลำดับ ทั้งนี้ การใช้ LPG ในภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวลดลงมาโดยตลอดหลังจากรัฐบาลประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีก LPG ในภาคอุตสาหกรรมเป็นไตรมาสละ 3 บาท/กิโลกรัม เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 ซึ่งในเดือนสิงหาคมมีการนำเข้า LPG 159,600 ตัน โดยกองทุนจ่ายชดเชยอยู่ที่ประมาณ 2,800 ล้านบาท

          สำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมีปริมาณรวมทั้งสิ้น 971,000 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 9% และมูลค่าการนำเข้า 102,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% แบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ 899,000 บาร์เรล/วัน มูลค่านำเข้า 96,000 ล้านบาท และน้ำมันสำเร็จรูป 71,000 บาร์เรล/วัน มูลค่านำเข้า 5,600 ล้านบาท ส่วนการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณ 282,000 บาร์เรล/วัน เป็นมูลค่าส่งออก 31,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% และ 22% ตามลำดับ

การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 8 เดือนแรกของปี 2554 เทียบกับ 8 เดือนแรกของปี 2553
          เมื่อเปรียบเทียบการใช้น้ำมันในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 กับช่วงเดียวกันของปี 2553 พบว่าการใช้น้ำมันเบนซิน 91 และ 95 ปรับตัวลดลง ในขณะที่การใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นทุกชนิด ซึ่งเป็นผลจากในปี 2554 ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3 - 6 บาท/ลิตร ทำให้ประชาชนหันไปใช้พลังงานทดแทน LPG และ NGV เพิ่มขึ้น ส่วนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากรัฐบาลตรึงราคาอยู่ที่ระดับ 29.99 บาท/ลิตร ตั้งแต่ต้นปี ดังนี้

          เบนซิน 91, 95 การใช้ลดลง 5% จาก 8.3 ล้านลิตร/วัน เหลือ 7.9 ล้านลิตร/วัน
          แก๊สโซฮอล์ การใช้เพิ่มขึ้น 5% จาก 11.9 ล้านลิตร/วัน เป็น 12.5 ล้านลิตร/วัน
          ดีเซลหมุนเร็ว การใช้เพิ่มขึ้น 4% จาก 49.9 ล้านลิตร/วัน เป็น 51.6 ล้านลิตร/วัน
          NGV การใช้เพิ่มขึ้น 35% จาก 4.8 ล้านกิโลกรัม/วัน เป็น 6.5 ล้านกิโลกรัม/วัน

          ส่วนการใช้ LPG เพิ่มขึ้นถึง 23.5% จาก 440,000 ตัน/เดือน หรือ 14,500 ตัน/วัน มาอยู่ที่ 543,000 ตัน/เดือน หรือ 17,900 ตัน/วัน เป็นการเพิ่มขึ้นของทุกภาคการใช้ โดยภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นถึง 52% ตามการขยายตัวของธุรกิจปิโตรเคมี ส่วนภาคขนส่งเพิ่มขึ้น 37% ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 10% ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเพียง 1%

          สำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงโดยรวมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ 871,000 บาร์เรล/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1% ในขณะที่มูลค่านำเข้า 701,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แบ่งเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ 817,000 บาร์เรล/วัน มูลค่า 667,000 ล้านบาท น้ำมันสำเร็จรูป 54,000 บาร์เรล/วัน มูลค่า 34,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการนำเข้า LPG เฉลี่ย 123,000 ตัน/เดือน มูลค่ารวม 27,800 ล้านบาท และกองทุนจ่ายชดเชยรวม 18,100 ล้านบาท ส่วนปริมาณการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 182,000 บาร์เรล/วัน ลดลง 6% คิดเป็นมูลค่า 154,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24%

สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
          นายวีระพลได้กล่าวถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนี้ว่า ตั้งแต่ราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลงมากในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจนถึงต้นเดือนกันยายน ราคาน้ำมันดิบมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเป็นช่วงพายุเฮอริเคนพัดผ่านประเทศสหรัฐอเมริกาและอ่าวเม็กซิโก

อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาน้ำมันยังคงมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจในภาคการผลิตของทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และยุโรป และปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ทั้งนี้ EIA ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ในเดือนกันยายนโดยรวมอยู่ที่ 89 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และเฉลี่ยในไตรมาสที่ 3 นี้ จะอยู่ที่ระดับ 90.88 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และคาดว่าในช่วงเริ่มต้นไตรมาสที่ 4 ราคาจะเพิ่มขึ้นเป็น 91 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว

กรมธุรกิจพลังงานเผยผลการตรวจวัดปริมาณน้ำมันคงเหลือ ชดเชยผู้ค้ากว่า 3,800 ล้านบาท
          นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานเผยว่า จากการที่รัฐบาลประกาศปรับลดการเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทางกรมธุรกิจพลังงานได้ดำเนินการตรวจวัดปริมาณน้ำมันคงเหลือ ณ คลังน้ำมัน ของผู้ค้าน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ

โดยจากการรวบรวมผลการตรวจวัดในเบื้องต้น พบว่าสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศมี น้ำมันเบนซิน 91 คงเหลือประมาณ 38.415 ล้านลิตร น้ำมันเบนซิน 95 มีปริมาณคงเหลือประมาณ 1.710 ล้านลิตร น้ำมันดีเซลมีปริมาณคงเหลือประมาณ 129.658 ล้านลิตร รวมจำนวนเงินที่ต้องจ่ายชดเชยประมาณ 650 ล้านบาท

สำหรับการตรวจวัดปริมาณน้ำมันคงเหลือของผู้ค้าน้ำมัน ทั้ง 17 แห่งพบว่า น้ำมันเบนซิน 91 มีปริมาณคงเหลือประมาณ 108.889 ล้านลิตร น้ำมันเบนซิน 95 มีปริมาณคงเหลือประมาณ 5.373 ล้านลิตร และกลุ่มน้ำมันดีเซลมีปริมาณคงเหลือประมาณ 814.495 ล้าน ลิตร ซึ่งจำนวนเงินที่ต้องจ่ายชดเชยประมาณ 3,100 ล้านบาท โดยหากรวมจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายชดเชยแก่ผู้ค้าน้ำมันและสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ เป็นเงินประมาณ 3,800 ล้านบาท ทั้งนี้หากมีการรวบรวมข้อมูลครบถ้วน ทางกรมธุรกิจพลังงานจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป

กรมธุรกิจพลังงานยืนยันการใช้บี4
          ปิดท้าย อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยว่า จากการที่ในปีนี้มีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกมาสู่ตลาดมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ ที่มีฝนตกตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งแตกต่างจากปี 2553 ที่ฝนแล้ง ดังนั้น การขยายระยะเวลาการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 4 ออกไปอีก 1 เดือน จะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณปาล์มน้ำมันที่ใช้ภายในประเทศ แต่จะสามารถดูดซับปาล์มน้ำมันที่ออกมาสูงเกินความต้องการได้ถึง 1,400 ตัน/วัน หรือ 42,000 ตัน/เดือน

อย่างไรก็ตาม กรมธุรกิจพลังงานจะมีการติดตามข้อมูลปริมาณปาล์มน้ำมันคงเหลือในช่วงต้นเดือนตุลาคมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าจะปรับลด หรือ คงสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล 4 ต่อไป