เนื้อหาวันที่ : 2011-09-26 10:37:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2826 views

จงสุจริตหากคิดจะพัฒนา

ทุจริตคอร์รัปชั่นดูจะเป็นปกติในระเบียบปฏิบัติของทั้งภาครัฐและเอกชน จนประเทศเราถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศที่มีความทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุด

พระมหาประสิทธิ์

          กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ เมืองเล็กๆ แสนไกล พระราชารับสั่งให้เลี้ยงเสือตัวหนึ่งไว้ในอุทยานท้ายวัง โดยพระราชทานค่าซื้อเนื้อไว้วันละ 1 บาท ปรากฏว่าคนเลี้ยงเสือนำไปซื้อเพียง 3 สลึง เก็บไว้ส่วนตัว 1 สลึง ทำให้เสือได้รับอาหารไม่เพียงพอจึงผอมโซ พระราชาจึงส่งผู้ตรวจการไปหาสาเหตุว่าทำไมเสือจึงไม่อ้วน ผู้ตรวจการฯ รับค่าปิดปากจากคนเลี้ยงเสือไปอีก 1 สลึง ทำให้เหลือค่าซื้อเนื้อเพียง 2 สลึง พระราชาจึงส่งผู้ตรวจการฯคนที่ 2 และ 3 ไปตามลำดับ และทั้งสองก็รับค่าปิดปากไปคนละสลึงหนึ่ง   สุดท้ายเสือก็ตาย เพราะไม่มีเงินซื้อเนื้อ นิทานเรื่องนี้มาจากโคลงโลกนิติบทที่ว่า 

 

          เบิกทรัพย์วันละบาทซื้อ มังสา 
นายหนึ่งเลี้ยงพยัคฆา ไป่อ้วน 
สองสามสี่นายมา กำกับ กันแฮ
บังทรัพย์สี่ส่วนถ้วน บาทสิ้นเสือตาย

          นิทานเรื่องนี้สะท้อนถึงความเสียหายที่เกิดจากความทุจริตมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอันที่จริงแม้ไม่ใช้นิทาน เรื่องทำนองเดียวกันก็มีให้เห็นอยู่มากมายในสังคมบ้านเรา ที่ความทุจริตคอร์รัปชั่นดูจะเป็นปกติในระเบียบปฏิบัติของทั้งภาครัฐและเอกชน จนประเทศเราถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศที่มีความทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุด โดยอยู่ในอันดับที่ 49 จาก 143  ประเทศทั่วโลก และอันดับ 4 จาก 13 ประเทศในเอเชีย ซึ่งก็เป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 2548 ของ World Democracy Audit และ  บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ (Political and Economic Risk Consultancy, Ltd.- PERC)

ขณะที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) จัดให้ไทยอยู่อันดับที่ 84 จาก 180 ประเทศเมื่อปี  2552 แต่จนกระทั่งปี 2553-54 ก็ยังเป็นประเด็นปัญหาที่มีแนวโน้มในทางรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลยกระดับเป็นวาระแห่งชาติว่าด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อต้านคอร์รัปชั่น เพราะเห็นความสำคัญว่าปัญหานี้ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเมือง ทำให้หน่วยงานหรือองค์กรขาดประสิทธิภาพในการทำงาน หน่วยงานรัฐบาลหรือราชการขาดความน่าเชื่อถือ เสถียรภาพทางการเมืองไม่มั่นคง ต่างชาติไม่อยากมาลงทุน เอกชนกำมะลอต้มตุ๋นเอาเปรียบ และวิบากกรรมก็ตกใส่ประชาชนจนเดือดร้อนไปตามๆ กัน 

           อ่านถึงตรงนี้บางคนอาจคิดว่าผู้เขียนกำลังจะมุ่งเป้าไปที่รัฐบาลหรือการเมือง ซึ่งความจริงผู้เขียนอยากสะท้อนถึงปัญหาความไม่ซื่อสัตย์ซื่อตรงในแวดวงต่างๆ ว่ามันส่งผลกระทบรุนแรงทั้งในและนอกประเทศ จนเกิดกระแสเรียกร้องความเป็น “ธรรมาภิบาล” หรือการบริหารจัดการที่โปร่งใส สะอาด บริสุทธิ์ ขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ที่เราจะเห็นความตรงไปตรงมาน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหลบเลี่ยง หาช่องโหว่เพื่อกอบโกยและรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่กัดเซาะสังคมให้เปราะบาง เหมือนแมลงที่ไข่ลงบนเปลือกผลไม้ที่ข้างนอกเห็นแค่จุดดำเล็กๆ แต่ภายในหนอนร้ายกำลังชอนไชสูบกินเนื้อในจนเน่าเฟะ กว่าจะรู้ก็สายเสียแล้ว

           มีโครงการหนึ่งเห็นตามป้ายรถเมล์ว่า “โตไปไม่โกง” เป็นการบ่มเพาะเด็กรุ่นใหม่ให้มีค่านิยมไม่คดโกง ซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งถ้าคิดเล่นๆ ว่ากว่าพวกเขาเหล่านั้นจะโตอาจไม่เหลืออะไรให้โกงแล้วก็ได้   

           เมื่อมองหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้แล้วก็เห็นหลักๆ คือ สตง. ซึ่งน่าจะนำมาเป็นแนวปฏิบัติได้ดีคือ 

           1. สุจริต บริสุทธิ์ ยุติธรรม คือความประพฤติดีทั้งทางกาย วาจา และใจ ในระดับตัวบุคคลก็ให้คำนึงถึงการทำงานที่ตรงไปตรงมาตามหน้าที่ไม่มีนอกในฉ้อฉล ระลึกอยู่เสมอว่า “ซื่อกินไม่หมดคดกินไม่นาน” เพราะถึงได้สวาปามไปจนเต็มที่แต่ชีวิตก็จะหาความสุขไม่ได้ ความซื่อสัตย์จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นภาพพจน์ที่ดี เป็นเกียรติที่ไม่ต้องติดยศ แต่ได้รับความเคารพศรัทธาจากคนทั่วไป และอยู่ในแวดวงงานได้อย่างอาจหาญไม่หวาดระแวงเหมือนวัวหลังเหวอะ เพราะมีความผิดติดตัว กลัวคนอื่นจะรู้ โกงแล้วรวยช่วยให้อยู่สบายแต่อาจจะไม่ตายดี บางทีต้องคิดเยอะๆ หน่อยก่อนจะทำอะไรลงไป

           2. ต้องมีระบบตรวจสอบที่ดี ความรัดกุมเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี การประเมินประสิทธิภาพจะทำให้ทราบถึงศักยภาพได้ดี  เพราะบางทีผลเสียที่เกิดอาจไม่ใช่เพราะทุจริต แต่เป็นความผิดที่ไม่ได้ตั้งใจ หรือบกพร่องโดยสุจริต ซึ่งหากมีระบบตรวจสอบที่ดีก็จะช่วยป้องกันและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ ระบบการบริหารจัดการที่ดีเป็นธรรมาภิบาล  จะช่วยให้ขับเคลื่อนงานไปอย่างไหลลื่น และมั่นคงเพราะมีฐานหลักที่หนักแน่น เหมือนตึกใหญ่ต้องมีเสาเข็มเป็นที่ค้ำยันไม่ให้ทรุด สังคมทุกภาคส่วนก็เช่นกัน หากไร้ระบบดูแลก็รอแต่จะเสื่อมโทรม

           3. งบและงานต้องฉลาดใช้ฉลาดทำ ความสามารถในการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาในทุกระดับ ทั้งส่วนบุคคล หน่วยงาน องค์กรหรือสังคมส่วนใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนก็คาดหวังที่จะได้เห็นการพัฒนาและขับเคลื่อนงานไปอย่างก้าวหน้า ภาษีที่เสียไป หรือเงินที่ซื้อมาจะได้ไม่สูญเปล่า 

           นึกถึงครั้งหนึ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ พูดผ่านสื่อว่า “จีนสร้างรถไฟ 100 กิโลเมตร ภายใน 5 ปี แต่ไทยสร้างรถไฟ 10 ปี ได้ 5 กิโลฯ” ไม่ใช่ว่าคนไทยจะเก่งสู้ไม่ได้ แต่ด้วยเหตุผลกลใดเราคงต้องช่วยกันคิดพิจารณา ถ้าความสุจริตไม่กลับมาเราคงจะพากันพินาศหมด ไม่ต้องรอให้โลกแตกหรือใครจะมาทำลายหรอกเพราะการที่เรายื้อแย่งช่วงชิง ทำร้ายกันเอง เห็นแก่พวกตนและไม่สนใจส่วนรวมในตอนนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับมะม่วงเน่าใน ไม่นานก็จะหล่นล่วงแหลกเละ คงต้องสุจริตและร่วมกันพัฒนาเท่านั้น

หากเราหวังให้เกิดความเจริญก้าวหน้าสมานฉันท์อย่าสมานฉุน ความขุ่นมัวในใจแม้รู้ดีว่าอาจจะไม่มีวันหมดสิ้น แต่อยากให้ลองคิดว่าขณะที่เรายืนกันเป็นวงกลมแล้วหันคมหอกเข้าหากัน พร้อมแล้วก็แทงทันทีพร้อมกัน ถ้าไม่ตายหมดก็คงเจ็บกันทั่ว แต่ถ้าหันหลังชนกันแล้วหันหอกออกไป การแทงจะได้ผลลัพธ์ต่างกันแน่นอน  แล้วถ้าคนส่วนใหญ่หันออกข้างนอกหมดแล้วเหลือเพียงไม่กี่คนที่ยังแทงเพื่อนข้างหลังอยู่ คิดว่าจะเป็นอย่างไร?