เนื้อหาวันที่ : 2011-09-21 11:06:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2415 views

ม.อ.ลุยปัตตานี หนุนงานวิชาการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน

ม.อ.ลงพื้นที่ปัตตานี ลุยโครงการเพิ่มมูลค่าประมงชายฝั่ง เดินหน้าให้องค์ความรู้แก่ประชาชน หวังยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนในท้องถิ่น

 

ม.อ.ลงพื้นที่ปัตตานี ลุยโครงการเพิ่มมูลค่าประมงชายฝั่ง เดินหน้าให้องค์ความรู้แก่ประชาชน หวังยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนในท้องถิ่น

ม.อ.ลงพื้นที่ปัตตานี ลุยโครงการเพิ่มมูลค่าประมงชายฝั่ง หวังยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนในท้องถิ่น เดินหน้าให้องค์ความรู้แก่ประชาชน เพื่อสร้างรายได้และสร้างจิตสำนึกให้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งโครงการธนาคารปู โครงการจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวปัตตานี และโครงการศึกษาและพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบนำร่อง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า การมุ่งให้ความรู้แก่ประชาชนในท้องถิ่นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ ม.อ. ซึ่งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้ดำเนินโครงการเพื่อเพิ่มมูลค่าทางปัญญาท้องถิ่นให้แก่ประชาชน

โดยได้ริเริ่มโครงการให้ความรู้แก่ประชาชนในท้องถิ่นประมงชายฝั่ง จังหวัดปัตตานี ผ่าน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการธนาคารปู โครงการจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวปัตตานี กิจกรรมฐานข้อมูลสัตว์น้ำเศรษฐกิจและทรัพยากรในระบบนิเวศย่อยต่างๆ ของปัตตานี และโครงการศึกษาและพัฒนาหมู่บ้านประมงต้นแบบนำร่อง

สำหรับโครงการธนาคารปู เป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพิ่มปริมาณปูม้าบริเวณชายฝั่งทะเล เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงหมู่บ้านบางตะวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยได้แนวคิดมาจากการศึกษาดูงานที่ธนาคารปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี  และอำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ก่อให้เกิดระบบธนาคารปูเต็มรูปแบบ โดยการส่งเสริมให้คนในพื้นที่นำปูไข่ไปฝากไว้กับธนาคารปู  

จากนั้นเมื่อแม่ปูวางไข่  จึงนำแม่ปูไปแลกปูไข่จากสมาชิกเรือประมงชายฝั่งของชุมชนเพื่อมาปล่อยไว้ในกระชัง  ซึ่งปัจจุบันได้ปล่อยปูไข่ลงในธนาคารปูแล้วทั้งสิ้นจำนวน 350 ตัว โดยมีอัตราการรอดของลูกปู 1,000 ตัว ต่อแม่ปูไข่ 1 ตัว และคาดว่าในการดำเนินในครั้งนี้จะมีอัตราการรอดของลูกปูสูงถึง 1,000,000 ตัว

 ส่วนโครงการจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวปัตตานี กิจกรรมฐานข้อมูลสัตว์น้ำเศรษฐกิจและทรัพยากรในระบบนิเวศย่อยต่างๆ ของปัตตานี เป็นโครงการดูแลทรัพยากรธรรมชาติบริเวณอ่าวปัตตานีที่เป็นแหล่งเพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “มดลูกทะเล”

ซึ่ง ม.อ.จะเข้าไปจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์โดยใช้โปรแกรมเฉพาะด้าน จัดทำระบบเฝ้าระวังพร้อมรายงานผลสัตว์น้ำเศรษฐกิจและทรัพยากรในระบบนิเวศย่อยต่างๆ ของอ่าวปัตตานี เพื่อทำทำเนียบแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง พร้อมเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับอ่าวปัตตานีอย่างทั่วถึง

ขณะที่โครงการศึกษาและพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบนำร่อง ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนากระบวนการเปลี่ยนแปลงในการแก้ปัญหาพื้นที่ภาคใต้ โดยมีประชาคมเป็นผู้กำหนดรูปแบบ วางแผนปฏิบัติงานด้วยตนเอง ซึ่งมีโครงการนำร่อง 5 ชุมชนได้แก่ ชุมชนบ้านบางปลาหมอ บ้านรูสะมิแล  ชุมชนบ้านปะนาเระ ชุมชนบ้านลุ่ม จังหวัดปัตตานี และชุมชนบ้านทอน จังหวัดนราธิวาส

โดยมุ่งสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้เกิดขึ้นแก่คนในชุมชน สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน ด้วยระบบสหกรณ์เครือข่าย การสร้างสภาพภูมินิเวศน์ที่เหมาะสม เร่งสร้างแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างมีคุณภาพ

“เรามีเป้าหมายของการดำเนินโครงการที่ต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่การยกระดับศักยภาพของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งในลักษณะการสร้างมูลค่าเพิ่มจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ควบคู่กับทัศนคติการดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข ซึ่งจะสามารถสร้างความยั่งยืนให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นสามารถดูแลตัวเองได้”  ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมปอง กล่าว