เนื้อหาวันที่ : 2011-09-20 12:26:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1741 views

นายกฯ ชี้การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ โชว์วิสัยทัศน์แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หนุนใช้ Green Meeting ควบคุมการใชทรัพยากร ลดของเสีย

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ โชว์วิสัยทัศน์แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หนุนใช้ Green Meeting ควบคุมการใชทรัพยากร ลดของเสีย

วานนี้ (19 กันยายน 2554) เวลา 09.40 น. ณ ห้อง Crystal Ballroom ชั้น 3 โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน กรุงเทพฯ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงาน Thailand Sustainable Development Symposium 2011 ที่เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำแนวคิด Green Meeting มาใช้ควบคุมการใช้ทรัพยากร การลดการก่อให้เกิดของเสีย ส่งเสริมให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยมีนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจเอกชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่แต่งกายไม่ใส่สูท ไม่ผูกเนคไท โดยปรับอุณหภูมิห้องสัมมนาให้เหมาะสมกับจำนวนผู้มาร่วมงาน

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดงาน และแสดงวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศโดยสรุป สาระสำคัญว่า แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในการพัฒนา เพื่อให้ประชาชนได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเป็นหลักสำคัญของการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ก่อนที่จะออกไปแข่งขันกับประเทศอื่น ประเทศไทยจึงต้องสร้างพื้นฐานการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดำเนินการอันโปร่งใส ตรวจสอบได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงโลกในยุคปัจจุบันว่าเป็นโลกที่ไร้พรมแดน ซึ่งจะทำให้การนำเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญของประเทศไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจที่กำลังเคลื่อนตัวสู่ภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นเวทีอาเซียนจึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในการพัฒนาเพื่อรองรับการเจริญเติบโตดังกล่าว และรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต รัฐบาลจึงต้องจัดสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ส่วนคนที่ย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศ เทคโนโลยีด้านการสื่อสารไร้พรมแดนที่พัฒนาขึ้นนั้น จะทำให้มีการสื่อสารในรูปแบบใหม่ที่มีความแตกต่างและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน วันนี้โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตภัยทางธรรมชาติที่เกิดจากการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติมากมาย ทั้งจากอุทกภัย วาตภัย แผ่นดินไหว มลพิษทางอากาศ และมลพิษทางเสียง เป็นต้น จากภาวะวิกฤตดังกล่าว จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะรณรงค์ให้ทุกสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความสมดุลให้แก่โลก เพราะทุกประเทศไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มต่าง ๆ และมีการทำข้อตกลงร่วมกัน

ประเทศไทยจึงต้องมีส่วนร่วม หรือได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้นทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม จึงต้องทำงานร่วมกันอย่างมีวิสัยทัศน์และบริหารงานในเชิงรุก เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ควบคู่กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สำหรับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า ภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติต่างๆ ทำให้ผลผลิตมีจำนวนลดลง ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งอาเซียนตื่นตัวในเรื่องนี้ รวมถึงการใช้พลังงานจากฟอสซิลที่เหลือน้อยและราคาแพง ต้องใช้พลังงานสะอาดทางเกษตร ซึ่งนโยบายรัฐบาลสนับสนุนพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ เพื่อใช้ประโยชน์ในประเทศ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในระยะยาวของภาคอุตสาหกรรม ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกันกับการใช้พลังงาน

ซึ่งรัฐบาลจะต้องสร้างความสมดุลทางอาหารและพลังงานด้วยการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนยากไร้ด้วยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 โดยจะนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2555 - 2559 ที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญของประเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

อย่างไรก็ตามตลอดเวลาที่ผ่านมากว่า 20 ปี ของการพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งบทเรียนที่ประเทศไทยได้รับจากวิกฤตเศรษฐกิจ จึงทำให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกค่อนข้างดีและจากนี้ไปต้องรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และลดความเสี่ยงจากความ ผันผวนของเศรษฐกิจโลกให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันต้องมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) รวมทั้งการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ให้เป็นทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน