เนื้อหาวันที่ : 2011-09-16 10:42:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1182 views

10 นโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย 10 โครงการ ภายใต้การนำของ นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย 10 โครงการ ภายใต้การนำของ นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก
พัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในห่วงโซ่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารของโลกอย่างจริงจัง  โดยมุ่งเน้นการสร้างเอกลักษณ์ของอาหารไทยในเชิงสร้างสรรค์  ควบคู่ไปกับการพัฒนาช่องทางการตลาดในระดับต่างๆ เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารของโลก ที่จะเน้นเรื่องการเพิ่มคุณค่า และความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

2. โครงการขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมสีเขียว
ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการต่างๆ  เพื่อสร้างการยอมรับอุตสาหกรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และเด็ดขาดสำหรับโรงงานที่กระทำผิดกฎหมาย และการปรับกระบวนการและโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสามารถก้าวเดินไปกับความเปลี่ยนแปลงบนความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

3. โครงการเสริมสร้าง SMEs เข้มแข็งอย่างบูรณาการ
การหาแนวทางในการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลอดจนพัฒนามาตรฐาน ผลิตภาพ เทคโนโลยี การจัดการการผลิต การหาตลาดใหม่และสร้างกลไกการตลาดที่เหมาะสมในการดูแลวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มสังคมของผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้มแข็ง รวมถึงการบริหารจัดการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีอยู่หลายหน่วยงานมีการดำเนินการในลักษณะที่ต่างกรรมต่างวาระ และบางโครงการซ้ำซ้อนกัน ให้เป็นการดำเนินการแบบบูรณาการ

4. โครงการขับเคลื่อนหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) สู่ความเป็นเลิศ
พัฒนาชุมชน จากการสร้างงาน ส่งเสริมและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างเถ้าแก่ให้แก่คนในชุมชน และสนับสนุนการท่องเที่ยว และแก้ไขปัญหาของ OTOP ที่ผ่านมา อาทิเช่น สินค้าที่ผลิตในแต่ละชุมชนเหมือนกันมากไป สินค้าไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้อยู่ในความจำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยให้มีการส่งเสริมสินค้า OTOP ให้มีมาตรฐานการผลิต การให้สินเชื่อระยะยาวเพื่อสร้างเถ้าแก่ชุมชน รวมถึงการคิดค้นสินค้า OTOP ใหม่ ๆ จากภูมิปัญญาท้องถิ่น และให้การส่งเสริมด้านการตลาดอย่างจริงจัง

5. โครงการพลิกฟื้นการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
ฟื้นฟูการลงทุน ทั้งการส่งเสริมการลงทุนในประเทศให้มากขึ้น ศึกษาและสร้างนวัตกรรมของระบบสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ ๆ ที่เป็นเชิงรุก ทบทวนประเภทการลงทุนที่สอดคล้องกับจุดแข็งของประเทศ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการลงทุน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยที่เข้มแข็ง

6. โครงการพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่
กำหนดเป็นเขตอุตสาหกรรมหรือนิคมอุตสาหกรรม  กระจายในพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน  เพื่อใช้ความได้เปรียบจากแรงงานต่างด้าว  และการควบคุมแรงงานได้อย่างเป็นระบบ  เพื่อรองรับนักลงทุนจากต่างชาติ อาทิ ญี่ปุ่นและจีน  ที่มีความสนใจในการย้ายหรือขยายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย  ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมของพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรม  โดยให้ความสำคัญกับการควบคุมดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน  รวมถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการเกษตรในพื้นที่  ควบคู่กับการแสวงหาพื้นที่แห่งใหม่ที่สามารถรองรับการลงทุนไปพร้อมกัน

7. โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม (Cultural Based Industry)
ผลักดันวัฒนธรรมไทยออกไปสู่เวทีโลก  ด้วยการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมจากวัฒนธรรมของชาติเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ เช่น  อุตสาหกรรมภาพยนตร์  อุตสาหกรรมอาหารไทย  อุตสาหกรรมการกีฬา  อุตสาหกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยว  และอุตสาหกรรมการออกแบบ  เป็นต้น

การส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดอุตสาหกรรมที่สร้างเพิ่มมูลค่าให้กับวัฒนธรรม  และผลักดันให้เกิดการส่งออกสินค้าหรือบริการทางด้านวัฒนธรรมไทยไปยังประเทศต่าง ๆ  พร้อมกับการดึงดูดให้เกิดการท่องเที่ยวไทย  เพื่อทำให้เกิดผลประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย    และเกิดการกระจายรายได้ สู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง

8. โครงการอุตสาหกรรมการเกษตร
สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถทางการเกษตร การส่งเสริมให้มีการนำสินค้าเกษตรมาแปรรูป และความสำคัญกับอุตสาหกรรมการเกษตรในอนาคตที่จะมีมูลค่าในการผลิตสูง เช่น อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน การกำหนดแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรบนพื้นฐานความสมดุลในเชิงพื้นที่ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรม จะผลักดันให้อุตสาหกรรมมีความมั่นคงและเกิดความยั่งยืน

โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากลอย่างทั่วถึง รวมทั้งเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทย โดยมุ่งเน้นเอกลักษณ์ของอาหารไทยเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาช่องทางการตลาดในระดับต่างๆ
 
9. โครงการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไทยสู่สากล
กำหนดให้มาตรฐานการผลิตเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมทุกประเภท  ผลักดันและยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เป็นมาตรฐานประเทศไทยและให้มีการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจได้มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มีการควบคุมมาตรฐานสินค้านำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะด้านความปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในเรื่องของคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยรวมถึงการบังคับใช้มาตรฐานเหล่านี้ในอุตสาหกรรมต่างๆ  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยและลดความศูนย์เสียทางเศรษฐกิจ

10. โครงการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันกับสินค้าและบริการจากประเทศอาเซียนที่จะเข้ามาทำตลาดในประเทศได้  การสร้างความเข้าใจระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน  การสร้างมาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในประเทศ  และการเตรียมความพร้อมที่จะพัฒนาด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของประเทศเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นของการเปิดเสรีการลงทุนที่จะครอบคลุมทุกสาขาการผลิต  ในปี ๒๕๕๘  รวมถึงการพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ ระเบียบ และขยายกรอบการลงทุนเพื่อให้เอื้อต่อการชักนำการลงทุนจากอาเซียนมายังประเทศไทยมากขึ้น