เนื้อหาวันที่ : 2011-09-14 16:49:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2414 views

สศค.ชี้ลดภาษีน้ำมันช่วยชะลอเงินเฟ้อ กระตุ้นบริโภคในปท.

สถานการณ์เศรษฐกิจ ชี้การขยายลดภาษีน้ำมันช่วยลดต้นทุนภาคการผลิต-ขนส่ง กระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ ชี้การขยายลดภาษีน้ำมันช่วยลดต้นทุนภาคการผลิต-ขนส่ง กระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน หนุนเศรษฐกิจขยายตัว

1. ครม.มีมติขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก 3 เดือน
          - อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.วันที่ 13 ก.ย.54 ) มีมติให้ขยายเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ออกไปอีก 3 เดือนจากการเก็บภาษีปัจจุบันที่อยู่ระดับ 0.005 บาทต่อลิตร ซึ่งจะครบกำหนดในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ทำให้คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ราว 5 หมื่นล้านบาท และจากมติ ครม.ล่าสุดที่ให้ขยายเวลาออกไปอีก 3 เดือนจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้เพิ่มอีกราว 2.5 หมื่นล้านบาท

          - สศค. วิเคราะห์ว่า การต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีก 3 เดือน จะเป็นการช่วยลดต้นทุนภาคการผลิตและภาคการขนส่ง ซึ่งมาตรการดังกล่าวช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อ ในดือน ส.ค. 54 อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 35 เดือน

ทั้งนี้ การต่ออายุมาตรการยังมีส่วนช่วยส่งเสริมให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 54 ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริงในปี 54 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.8-4.8 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.8 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.3-4.8 (คาดการณ์ ณ มิ.ย. 54)

2. ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการภาษี สนับสนุนการมีรถยนต์คันแรก
          - ประชุมคณะรัฐมนตรี ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.วันที่ 13 ก.ย. 54 ) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีสนับสนุนการมีรถยนต์คันแรก โดยกรมสรรพสามิตจะคืนเงินภาษีให้สำหรับรถคันละไม่เกิน 1 ล้านบาท ขนาดไม่เกิน 1,500 ซีซี สำหรับรถยนตร์ และรถกระบะ โดยจะคืนเงินให้ 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อและผู้ซื้อจะต้องถือกรรมสิทธิต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี โดยเริ่มมาตรการนี้ทันที 16 ก.ย. 54 สิ้นสุด 31 ธ.ค. 55

          - สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลล่าสุดในช่วง 7 เดือนแรกปี 54 ยอดจำหน่ายรถยนต์มีจำนวนทั้งสิ้น 504,914 คัน ขยายตัวร้อยละ 19.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง 225,787 คัน ขยายตัวร้อยละ 24.0 และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ 279,127 คัน ขยายตัวร้อยละ 20.5 ทั้งนี้ มาตรการรถคันแรกจะส่งผลดีในด้านการจำหน่ายรถยนต์และการผลิตรถยนต์ในช่วงที่เหลือของปี54 และจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น

3. เยอรมนีและ EU เน้นสร้างเสถียรภาพยูโรโซน
          - โฆษกของนายกรัฐมนตรีเยอรมัน เปิดเผยว่า รัฐบาลเยอรมนีมีเป้าหมายชัดเจนที่จะทำให้ยูโรโซนมีเสถียรภาพ โดยมีเงื่อนไขว่ากรีซจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดก่อนที่จะรับเงินช่วยเหลือรอบใหม่จากกองทุนของสหภาพยุโรป ขณะที่โฆษกของรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเยอรมันก็ได้กล่าวย้ำเช่นกันว่าต้องการให้กรีซอยู่ในกลุ่มยูโรโซนต่อไป

          - สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าสหภาพยุโรป (EU) ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้พยายามแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปที่บั่นทอนความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของยุโรปและค่าเงินยูโร แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงลุกลามและยังส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของ EU

โดยล่าสุด อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ EU ในไตรมาสที่ 2 ปี 54 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 54 เติบโตได้ร้อยละ 1.0 นอกจากนี้ ในอนาคตกลุ่มธนาคารในยุโรปอาจต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนแหล่งเงินทุนเนื่องจากสถาบันการเงินในหลายประเทศต่างหลีกเสี่ยงความเสี่ยงที่จะทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกับกลุ่มธนาคารในยุโรป

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลเยอรมันซึ่งเป็นประเทศหลักในกลุ่ม EU ที่ได้เข้าช่วยเหลือได้แสดงจุดยืนที่จะช่วยเหลือกรีซอย่างต่อเนื่องรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของอิตาลีกำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่ของจีนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จีนจะเข้าลงทุนซื้อพันธบัตรของอิตาลี จะช่วยลดแรงกดดันต่อตลาดการเงินในยุโรปและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจของยุโรป ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ EU ในปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.54) และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ก.ย.54

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง