เนื้อหาวันที่ : 2011-09-12 13:42:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2676 views

รับสร้างบ้านป่วน อิฐมวลเบาขาดตลาด โก่งราคา 15-30%

ธุรกิจรับสร้างบ้านป่วน อิฐมวลเบาขาดตลาดแถมโก่งราคา 15-30% ผู้ประกอบการเต้นงานก่อสร้างล่าช้าจำยอมควักเงินสดแย่งชิงสินค้า

          ธุรกิจรับสร้างบ้านป่วน อิฐมวลเบาขาดตลาดแถมโก่งราคา 15-30% จากราคาเดิม ผู้ประกอบการเต้นงานก่อสร้างล่าช้าจำยอมควักเงินสดแย่งชิงสินค้า สมาคมฯ มองปัจจัยเกิดจาก 1.พฤติกรรมผู้รับเหมาและผู้บริโภคเปลี่ยน 2.งานก่อสร้างคอนโดมิเนียมบูม 3.น้ำท่วมแหล่งผลิตอิฐมอญ เผยโชคดีสมาชิกแทบไม่ได้รับผลกระทบ เหตุเพราะสมาคมฯ วางยุทธศาสตร์ความเป็นพันธมิตรธุรกิจกับผู้ผลิตไว้ในระยะยาว ชี้ความต้องการใช้อิฐมวลเบาในกลุ่มสมาชิกเดือนละ 100,000 ก้อนและแนวโน้มยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
         

          นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เผยว่า ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เกิดปัญหาวัสดุคอนกรีตมวลเบาหรืออิฐมวลเบาขาดตลาด ส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านปั่นป่วนหนัก เพราะต้องรอสินค้านาน 30-60 วัน จากปกติสามารถรับสินค้าได้ภายใน 3-5 วัน เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้ากับผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย และในบางครั้งผู้ผลิตก็ไม่สามารถรับรองได้ว่าจะได้รับสินค้าเมื่อไร จากสาเหตุดังกล่าวมีผลทำให้งานก่อสร้างบ้านลูกค้าต้องหยุดชะงักและล่าช้าออกไป

ดังนั้นผู้ประกอบการที่ไม่สามารถรอสินค้าได้ จึงต้องยอมซื้อวัสดุในราคาที่แพงขึ้นจากเดิมอีกเฉลี่ยก้อนละ 3-6 บาท หรือจ่ายแพงกว่า 15-30% และผู้ประกอบการหลายรายยังต้องใช้วิธีจ่ายเงินสดให้ผู้ผลิตอิฐมวลเบาล่วงหน้า เพราะกังวลว่าจะไม่ได้รับสินค้าตรงตามแผนงานก่อสร้างที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ปัญหาอิฐมวลเบาขาดตลาดยังได้กระทบไปทั่ววงการก่อสร้างแล้วในปัจจุบัน

          ปัจจัยหลักๆ ที่ส่งผลให้อิฐมวลเบาขาดตลาดในปีนี้ น่าจะมาจากสาเหตุสำคัญๆ ก็คือ ประการแรก การที่ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างรายใหญ่อย่างเอสซีจี เข้าซื้อหุ้นผู้ผลิตอิฐมวลเบาแบรนด์คิวคอนเมื่อปีที่แล้ว พร้อมกับเริ่มปลุกตลาดมาได้ระยะหนึ่งจนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้บริโภค ให้หันมาใช้อิฐมวลเบาสร้างบ้านและอาคารมากขึ้น โดยใช้ร้านซิเมนต์ไทยโฮมมาร์ทที่มีทั่วประเทศ เป็นช่องทางจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภค จึงนับเป็นความสำเร็จที่ขยายตลาดให้เติบโตขึ้นหลายเท่า

ประการถัดมาพบว่างานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่และคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปีนี้อยู่ในช่วงที่ต้องการใช้วัสดุก่อผนังพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีความต้องการใช้อิฐมวลเบาเพิ่มขึ้นหลายเท่า และประการสุดท้าย เนื่องจากปีนี้มีฝนตกหนักและน้ำท่วมพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตอิฐมอญและเป็นสาเหตุให้อิฐมอญไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการและก็ขาดตลาดด้วย รวมทั้งราคาอิฐมอญก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน

นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน

          นายสิทธิพร นายกสมาคมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากพฤติกรรมที่ผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้บริโภค รับรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติและข้อดีของอิฐมวลเบามากขึ้น ตลอดจนกลุ่มสถาปนิกผู้ออกแบบที่เปลี่ยนมาแนะนำ และกำหนดให้อิฐมวลเบาเป็นวัสดุสร้างบ้านมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการผลักดันของผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ ได้ส่งผลดีไปถึงผู้ผลิตรายอื่นๆ ในตลาดอิฐมวลเบาด้วย เช่น ซุปเปอร์บล็อก สมาร์ทบล็อก ดีคอน พีซีซี ฯลฯ

อย่างไรก็ดีปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่ได้มีผลกระทบกับกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมไทยรับสร้างบ้านเท่าไรนัก จะมีก็เพียงระยะเวลาส่งมอบสินค้าช้ากว่าเดิมออกไปอีกเพียงแค่ 7-10 วัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้ในภาวะเช่นนี้ ในขณะที่ผู้ผลิตยังยืนราคาเดิมที่ตกลงกันไว้ เหตุผลเพราะสมาคมฯ ได้มีสัญญาใจและจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ผลิตอิฐมวลเบาแบรนด์ซุปเปอร์บล๊อกเอาไว้ก่อนหน้านี้

รวมทั้งผู้ผลิตรายดังกล่าวยังเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมาคมฯ ด้วย ที่ผ่านมาจึงมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมาโดยตลอด ทำให้เกิดความร่วมมือกันทางการค้าที่ต่างฝ่ายต่างช่วยกัน และมองผลประโยชน์ในระยะยาวเป็นสำคัญมากกว่า ปัจจุบันกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ มีความต้องการใช้อิฐมวลเบาเฉลี่ยเดือนละ 80,000-100,000 ก้อนและมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในช่วงไตรมาสสุดท้ายและต้นปีหน้า เนื่องจากยอดขายบ้านที่เพิ่มในช่วง 3-6 เดือนก่อนหน้านี้เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนที่ต้องใช้อิฐมวลเบาก่อสร้างบ้านตั้งแต่ไตรมาสนี้เป็นต้นไป