เนื้อหาวันที่ : 2011-09-12 11:57:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3615 views

ราชบุรีโฮลดิ้งเข้าซื้อหุ้นสงขลา ไบโอแมส พร้อมหนุนชุมชนร่วมทุน

ราชบุรีโฮลดิ้ง เซ็นสัญญาเข้าถือหุ้น 40% ใน สงขลา ไบโอแมส เดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เผยพร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าร่วมทุน

          ราชบุรีโฮลดิ้ง เซ็นสัญญาเข้าถือหุ้น 40% ใน สงขลา ไบโอแมส เดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เผยพร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าร่วมทุน

          ราชบุรีโฮลดิ้งร่วมทุนโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล สงขลา ผลักดันแนวคิดโรงไฟฟ้าชุมชน เปิดให้ชุมชนร่วมลงทุนในโครงการ

          เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2554 บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (“ราชบุรีโฮลดิ้ง”) ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง ผู้ถือหุ้น และสัญญาซื้อขายหุ้นในบริษัท สงขลา ไบโอแมส จำกัด กับ บริษัท พรีไซซ์ เพาเวอร์ โปรดิวเซอร์ จำกัด ภายใต้สัญญาดังกล่าว ราชบุรีโฮลดิ้ง จะเข้าถือหุ้นในบริษัท สงขลา ไบโอแมส จำกัด ร้อยละ 40 ส่วนที่เหลือร้อยละ 60 ถือโดย บริษัท พรีไซซ์ เพาเวอร์ โปรดิวเซอร์ จำกัด สำหรับ บริษัท สงขลา ไบโอแมส จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ใช้ปีกและรากไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดสงขลา และมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2557

          นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้มีมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท เป็นโครงการพลังงานทดแทนที่อยู่ในเป้าหมายของบริษัทฯ ที่ต้องการพัฒนาให้ได้ 100 เมกะวัตต์ภายในปี 2559 เพื่อตอบสนองนโยบายของภาครัฐที่สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนและลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า โครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนอัตราส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) จำนวน 1.30 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 7 ปี จากการลงทุนครั้งนี้ทำให้บริษัทฯ ขยายกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้พลังงานทดแทนได้แล้ว 80 เมกะวัตต์

          “ที่สำคัญ เราต้องการพัฒนาโครงการนี้ให้เป็นโรงไฟฟ้าเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง จึงมีแนวคิดที่จะให้ชุมชนมีโอกาสเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหารือรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากที่สุด คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 4 ปีนี้ เมื่อสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว โครงการนี้จะกลายเป็นต้นแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนในฐานะเจ้าของโครงการ ซึ่งจะนำไปใช้ในการพัฒนาโครงการอื่น ๆ ต่อไป และเรายังหวังว่า ประชาชนจะเกิดมุมมองใหม่และมีทัศนคติที่ดีต่อโรงไฟฟ้ามากขึ้นในอนาคต”

          สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล จะใช้ปีกไม้และรากไม้ยางพารา เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งความต้องการเชื้อเพลิงประมาณ 300-370 ตันต่อวัน โดยจะจัดหาภายในพื้นที่เป็นหลัก ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ศึกษาและวิเคราะห์ปริมาณวัตถุดิบแล้วพบว่ามีเพียงพอต่อการดำเนินโครงการและสามารถสร้างความมั่นคงทางด้านเชื้อเพลิงแก่โครงการได้เป็นอย่างดี