เนื้อหาวันที่ : 2011-09-12 10:22:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1945 views

ธปท.คาดศก.ไทยไตรมาส 3 แจ่มแต่ห่วงเงินเฟ้อสูง

รองผู้ว่าการ ธปท. เชื่อเศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่ภาวะตกต่ำ แต่ยังเสี่ยงเงินเฟ้อสูง ชี้แม้ทั่วโลกเผชิญปัญหาเศรษฐกิจยังไม่เห็นผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

          สำนักข่าวไทยรายงานว่า รองผู้ว่าการ ธปท. เชื่อเศรษฐกิจไทยไม่เข้าสู่ภาวะตกต่ำ แต่ยังเสี่ยงเงินเฟ้อสูง ชี้แม้ทั่วโลกเผชิญปัญหาเศรษฐกิจยังไม่เห็นผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

          นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปีนี้ จะขยายตัวได้ดีกว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

          เนื่องจากไตรมาส 2 เป็นช่วงที่เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากภัยพิบัติสึนามิในประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้แม้เศรษฐกิจหลักของโลก เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น หรือยุโรป (จี 3) จะกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่เห็นผลกระทบต่อการส่งออกของไทยหดตัวลง

โดยข้อมูลล่าสุด เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาของ ธปท.การส่งออกของไทยยังขยายตัวได้ร้อยละ 38 และหากหักการส่งออกทองคำแล้ว ส่งออกยังขยายตัวได้ร้อยละ 30 เมื่อเทียบจากระยะเดียวกันของปีก่อน และการขยายตัวดีนี้ไม่ได้เกิดจากฐานปีก่อนต่ำด้วย

          “เชื่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่เงินเฟ้อสูง แม้จะเห็นการขยายตัวของเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจะชะลอตัวลงก็จริง แต่การมองเศรษฐกิจอย่าดูตัวเลขเพียงเดือนเดียว แต่ควรดูภาพระยะยาวมากกว่า และเมื่อเห็นตัวเลขการขยายตัวของการส่งออก

ล่าสุดแล้ว สิ่งที่เราเคยห่วงกันว่า ส่งออกของไทยจะชะลอลง เพราะเศรษฐกิจประเทศจี 3 ชะลอลงนั้น ก็บอกได้ว่าเราก็เห็นเศรษฐกิจจี 3 อยู่ในสภาพนี้มานานแล้วเหมือนกัน แต่การส่งออกของเราก็ยังดีได้ดีอยู่ ซึ่งเป็นเพราะว่าการค้าขายในประเทศภูมิภาคเดียวกันสูงขึ้น” นางอัจนา กล่าว

          นางอัจนา กล่าวต่อว่า เชื่อว่าจากนี้ทิศทางการส่งออก หรือความต้องการสินค้าจะย้ายมาอยู่ในประเทศภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกจากไทยไปจีน ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับการส่งออกรวม แทนที่จะอยู่ในกลุ่มประเทศจี 3 เหมือนก่อน เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศดังกล่าวจะลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอลง

ทำให้ขณะนี้แรงกดดันที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศให้เพิ่มขึ้น จะมาจากปัจจัยภายในประเทศมากกว่าปัจจัยนอกประเทศ เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์อ่อนตัวลง ขณะที่เศรษฐกิจเรามีความแข็งแกร่ง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะผลักดันให้เงินเฟ้อเร่งสูงตัวขึ้น

          นอกจากนี้ ในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมที่ผ่านมา ที่ผลโหวตออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 2 เสียง ถือว่าเป็นเรื่องปกติ และการที่ ธปท.ประกาศผลโหวตของคณะกรรมการฯ ให้สาธารณะชนได้รับทราบ ก็เพื่อต้องการชี้ตลาดให้เห็นถึงทิศทางข้างหน้าในระยะต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

ซึ่งไม่ได้หมายความว่า 2 เสียงที่มีความเห็นแตกต่างนั้น ต้องการให้ลดดอกเบี้ยลง เพียงแต่คณะกรรมการ 2 ท่านมีความเป็นห่วงปัจจัยของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน ขณะเดียวกันช่วงนั้นก็เป็นช่วงรอดูนโยบายของภาครัฐบาลใหม่ที่ในขณะนั้นยังมีความไม่ชัดเจน ว่าจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจขยายตัว หรือมีผลต่อแรงกันเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้น หรือลดลงมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรอเพื่อชั่งน้ำหนักทางเศรษฐกิจ