เนื้อหาวันที่ : 2011-09-07 15:32:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1853 views

ผลผลิตภาคอุตฯ ก.ค. หด สิ่งทอต้นน้ำ อิเล็กทรอนิกส์หนักสุด

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม ก.ค. หดตัว 1.1% สิ่งทอต้นน้ำกระทบหนักจากต้นทุนพุ่ง ขณะที่อิเล็กทรอนิกส์หด 11% หลังเร่งผลิตในเดือนก่อน

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม ก.ค. หดตัว 1.1% สิ่งทอต้นน้ำกระทบหนักจากต้นทุนพุ่ง ขณะที่อิเล็กทรอนิกส์หด 11% หลังเร่งผลิตในเดือนก่อน

การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2554 กลับมาหดตัว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 1.1 จากที่ขยายตัวในเดือนมิถุนายน 2554 ที่ร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอุตสาหกรรมสำคัญอย่างการผลิตสิ่งทอต้นน้ำ และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หดตัวมาก

โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอต้นน้ำหดตัวถึงร้อยละ 15.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 6 เนื่องจากต้นทุนสินค้ามีราคาสูงจากวัตถุดิบ (ฝ้าย) ที่ซื้อมาในช่วงราคาสูงทำให้การแข่งขันทำราคากับคู่แข่งทำได้ลำบากส่งผลให้ชะลอการผลิตสินค้า ส่วนดัชนีผลผลิตของการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หดตัวร้อยละ 11.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเดือนก่อนหน้ามีการเร่งการผลิต

การผลิต Hard Disk Drive และเครื่องปรับอากาศยังคงขยายตัวแต่ชะลอลงจากเดือนก่อน ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 6.05 และ 4.43 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยการผลิตHard Disk Drive ที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นหลังจากมีการชะลอความต้องการในช่วงที่ผ่านมา

ประกอบกับมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ ขณะที่การผลิตเครื่องปรับอากาศที่ขยายตัวเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง สำหรับการผลิตรถยนต์ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ดัชนีผลผลิตขยายตัวเพียงที่ร้อยละ 0.03 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

การจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2554 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนขยายตัว โดยดัชนีการส่งสินค้าขยายตัวร้อยละ 2.1 เท่ากับเดือนก่อนหน้า ขณะที่สินค้าคงคลังเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สำหรับการใช้แรงงานในภาคการผลิตยังคงหดตัวสอดคล้องกับการผลิตที่หดตัว โดยเดือนกรกฎาคม 2554 ดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

สำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม