เนื้อหาวันที่ : 2011-09-06 15:09:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2733 views

โรคหลอดเลือดในสมอง

โรคหลอดเลือดในสมองตีบ กับ โรคหลอดเลือดในสมองแตก คุณก็สามารถป้องกัน ดูแลตนเองให้ห่างกลจากโรคนี้ได้

โรคหลอดเลือดในสมองตีบ
กับ โรคหลอดเลือดในสมองแตก


          โรคหลอดเลือดในสมอง หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต ดูเผินๆ เหมือนเป็นอาการที่เกิดขึ้นปุบปับ ไม่ทันตั้งตัว แต่ความจริงแล้วทุกคนสามารถป้องกันและดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้ และขอบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนควรรู้มากๆ แม้แต่เด็กเล็กๆ เองก็สามารถเรียนรู้ไว้และช่วยแจ้งขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินได้

          จากข้อมูลในเอกสารเผยแพร่ของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดในสมอง หมายถึง ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้มีอาการของแขน ขา หรือหน้า ซีกใดซีกหนึ่งชา อ่อนแรง เคลื่อนไหวลำบากหรือเคลื่อนไหวไม่ได้อย่างทันทีทันใด ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองตีบตัน หรือแตก จนเกิดการทำลาย หรือตายของเนื้อสมอง ทำให้สมองสูญเสียการทำงานของอวัยวะในร่างกาย โดยอาการที่เกิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ขาดเลือดไปเลี้ยงและความรุนแรงขึ้นอยู่กับการทำลายเนื้อสมอง

ประเภทของโรคหลอดเลือดสมอง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
          1. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรือตัน (Ischemic Stroke) คือมีการอุดตันของหลอดเลือดซึ่งอาจเกิดจากการที่มีก้อนเลือดจากหัวใจหรือก้อนไขมันจากหลอดเลือดที่คอมาอุดที่หลอดเลือดในสมอง หรืออาจเกิดจากโรคของหลอดเลือดสมองเองเกิดการอุดตัน หรือเกิดจากภาวะที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด (เลือดแข็งตัวง่ายกว่าปกติ) ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้

          2. โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) โดยส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงมานาน ทำให้เกิดความผิดปกติที่หลอดเลือดเล็กๆ  ในสมอง และเกิดการแตกของหลอดเลือด ก้อนเลือดจะไปกดที่เนื้อสมอง ทำให้ขาดออกซิเจน ขาดอาหาร

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
          โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความอ้วน การสูบบุหรี่ และดื่มสุรา โรคหัวใจ เช่น โรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ การดำเนินชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ ขาดการเคลื่อนไหว ขาดการออกกำลังกาย และภาวะเครียด

สัญญาณเตือนภัย ซึ่งหากพบเห็นผู้ที่มีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 1 อาการ ให้รีบพาไปโรงพยาบาลโดยด่วนภายใน 3 ชั่วโมง จะได้ช่วยรักษาชีวิต และสามารฟื้นฟูกลับมาได้เป็นปกติหรือใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด
          1. ชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีกที่หน้า หรือขา
          2. เวียนศรีษะ หรือหมดสติ
          3. ปวดศรีษะรุนแรงหรือเฉียบพลัน
          4. พูดไม่ชัดหรือลิ้นแข็ง
          5. ตามัว หรือเห็นภาพซ้อน

การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ทุกคนสามารถป้องกันการเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์ อัมพาต ได้ด้วยการเริ่มต้นดูแลเอาใจใส่สุขภาพและความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด ได้แก่

          • การรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ น้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท สำหรับผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงให้ความดันน้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
          • สำหรับผู้เป็นเบาหวาน ต้องรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด
          • เลิกสูบบุหรี่
          • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน
          • บริโภคอาหารให้เหมาะกับความต้องการของร่างกาย งดอาหารเค็ม หวาน และไขมันสูง
          • การควบคุมให้น้ำหนักตัวที่เหมาะสม
             - ดัชนีมวลกาย ไม่เกิน 23 กิโลกรัม/ตารางเมตร

          คำนวณโดยใช้สมการ
         

          • รอบเอวชายน้อยกว่า 90 เซนติเมตร หญิงน้อยกว่า 80 เซนติเมตร
          • ทำจิตใจให้ผ่อนคลายเพื่อลดภาวะเครียด
          • การตรวจร่างกายประจำอย่างสม่ำเสมอ

          การรักษา
          • รักษาด้วยยา
          • รักษาด้วยการผ่าตัด
          • รักษาด้วยการฉายรังสี
          • การทำกายภาพฟื้นฟู

ที่เกริ่นว่าแม้แต่เด็กเล็กๆ เองก็สามารถเรียนรู้ไว้และช่วยแจ้งขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินได้ เหตุเพราะมีเหตุการณ์โรคหลอดเลือดในสมองตีบเกิดขึ้นกับญาติผู้ใหญ่ของผู้เขียนเองในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา ซึ่งหลานสาวตัวน้อยก็ได้สังเกตุอาการและรีบโทรแจ้งคุณพ่อของเธอว่าคุณย่ามีอาการไม่ปกติ และทำให้คุณย่าได้เข้ารับการรักษาอย่างทันเวลา

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค,
กระทรวงสาธารณสุข