เนื้อหาวันที่ : 2011-08-30 18:20:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2139 views

ธุรกิจพลังงานทดแทนเฮ! ตลาดทุนหนุนได้โอกาสโตเต็มที่

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ 3 หน่วยงานด้านพลังงาน หนุนธุรกิจพลังงานทดแทนโตผ่านตลาดทุน

           ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ 3 หน่วยงานด้านพลังงาน หนุนธุรกิจพลังงานทดแทนโตผ่านตลาดทุน

           ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หนุนธุรกิจพลังงานทดแทนเติบโตผ่านตลาดทุน พร้อมร่วมเสริมความรู้ผู้ประกอบธุรกิจพลังงาน มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ พร้อมเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย
 
           นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในวันนี้ (29 ส.ค.2554) โดยมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีฯ ว่า “ธุรกิจพลังงานทดแทนเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีโอกาสการเติบโตจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจถึง 5% ต่อปี

ธุรกิจพลังงานทดแทนยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่ไปกับการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจดังกล่าวต้องการเงินทุนจำนวนมาก ตลาดทุนจึงพร้อมให้การสนับสนุนการระดมทุนของธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างเต็มที่โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการนำธุรกิจพลังงานทดแทนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้มากยิ่งขึ้น”

          นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กล่าวว่า “กิจการไฟฟ้าเป็นกิจการที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเป็นกิจการที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายสนับสนุนธุรกิจพลังงานและพลังงานทดแทนในหลายด้าน โดยความร่วมมือนี้จะเป็นก้าวแรกในการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเดินหน้าตามแนวนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงานของภูมิภาคต่อไป”

          นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “นโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนของรัฐบาล ที่จะมีปรับเป้าหมายให้มีการใช้เพิ่มมากขึ้นเป็น 25% ภายใน 10 ปีนับจากนี้ นอกจากจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มเม็ดเงินลงทุนและการจ้างงานในประเทศ แล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ในทางอ้อมต่อเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตร พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น โดยการลงนามความร่วมมือ ฯ ในวันนี้ จะเป็นการร่วมผลักดันให้ประเทศไทยเกิดการลงทุน และผลิตพลังงานทดแทนขึ้นใช้เองได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต รวมทั้งจะก้าวไปสู่ศูนย์กลางด้านพลังงานทดแทนในการผลิตและการใช้ในระดับภูมิภาคต่อไป”

          นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า “นับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมประสิทธิภาพแก่ผู้ประกอบกิจการพลังงานและพลังงานทางเลือก ทั้งด้านการเพิ่มความเข้มแข็งของธุรกิจโดยระดมทุนผ่านตลาดทุน และด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) ผ่านกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจต่างๆ อาทิ ความรู้ความเข้าใจในธุรกิจพลังงาน หลักเกณฑ์การอนุญาต และการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจ รวมถึงการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งของธุรกิจไทย อันจะส่งผลต่อการพัฒนา เศรษฐกิจ และสังคมได้ในอนาคต และเชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ คุณภาพ ความมั่นคง และเชื่อถือได้ในกิจการพลังงานของประเทศต่อไป”

          นายณรงค์ศักดิ์ กำมเลศ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า “การร่วมมือกันครั้งนี้ นอกจากจะเน้นส่งเสริมความรู้ด้านการระดมทุนแก่ผู้ประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังร่วมสนับสนุนให้บริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นแนวทางให้บริษัทในเครือสามารถระดมทุนเพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาความสามารถผู้ประกอบกิจการพลังงานไทยทั้งในระดับประเทศและระดับนานาประเทศ”

          บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีผลตั้งแต่ 29 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 2 ปี